ร่างกายทุกคนล้วนประกอบไปด้วยเลือด ซึ่งมีหัวใจคอยสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยหากเกิดเหตุการณ์ใดที่ทำให้เราต้องเสียเลือดมาก ก็อาจทำให้เราอ่อนเพลีย หมดแรง หรือ ซ็อคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นั่นเองที่ชี้ให้เห็นว่า ร่างกายคนเราล้วนต้องการเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ "สมอง" อวัยวะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากเกิด "ภาวะสมองขาดเลือด" เมื่อไร นอกจากจะมีโอกาสเสียชีวิตแล้ว เรายังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาตได้ด้วย สมองขาดเลือดหมายถึงอะไร?นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง "ภาวะสมองขาดเลือด" (Stroke) ว่า หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดสมองซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงเลือดถูกตัดขาด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองบริเวณนั้นได้ จึงส่งผลให้เซลล์สมองตายและสมองสูญเสียการทำหน้าที่ในที่สุด โดยภาวะที่สมองหยุดทำงานนั้น ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ มีภาวะบกพร่องทางการสื่อความผิดปกติ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะขาดเลือดในผู้ป่วยแต่ละราย สาเหตุใด ถึงทำให้สมองขาดเลือด?สาเหตุหลักๆ ของ "ภาวะสมองขาดเลือด" ก็คือ การที่ลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ โดยมักเกิดจากปัจจัย 2 ข้อ ดังนี้ - หลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดอุดตันหรือตีบแคบลง
- หลอดเลือดสมองแตก ทำให้เลือดคลั่งในสมอง
ทั้งนี้ ภาวะสมองขาดเลือด อาจเกิดขึ้นเป็น "ภาวะชั่วคราว" ได้ หรือ ที่เรียกว่า "โรคทีไอเอ" (TIA,Transient ischemic attack) ซึ่งคนทั่วไปอาจรู้จักกันในชื่อ "อัมพฤกษ์" โรคที่เกิดจากการสมองสูญเสียการทำหน้าที่เพียงแค่ชั่วคราว สามารถกลับมาหายเป็นปกติได้ หากรักษาอย่างถูกต้อง แต่กลับกันหากรักษาไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาตถาวร หรือ อาจถึงขั้นเกิดความพิการ อาการทรุดหนักและเสียชีวิตได้ ปัจจัยเสี่ยงอะไร ทำให้ต่อเกิดภาวะสมองขาดเลือด?นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงภาวะสมองขาดเลือดว่า สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ - อายุมาก ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพแข็งตัวตามอายุ
- มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เป็นสาเหตุของสะสมของไขมันในหลอดเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดตีบ
- โรคเบาหวาน ช่วยส่งเสริมให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ทำให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันสะสมในร่างกายและเกาะตามผนังหลอดเลือดมากขึ้นเสี่ยงสมองขาดเลือด
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพริ้ว(AF) มีความเสี่ยงของลิ่มเลือดหลุดออกจากหัวใจไปอุดที่หลอดเลือดสมอง
- การสูบบุหรี่ มีส่วนทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
- การไม่ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อย จึงมีการสะสมไขมันในร่างกายและหลอดเลือดสูง
เมื่อสมองขาดเลือด ร่างกายมีอาการแสดงอย่างไร?นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 อธิบายถึงลักษณะเด่นของอาการแสดงในภาวะสมองขาดเลือดว่า "จะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน" ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เสียหาย เช่น - แขนขาชาและอ่อนแรงครึ่งซีก
- การมองเห็นผิดปกติ
- พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
- ปวดศีรษะ มึนงง หรือบางรายอาจหมดสติ
ทั้งนี้ เราสามารถ สรุปเป็นหลักให้จำง่ายๆ ได้ด้วยคำว่า "FAST" ซึ่งมี ความหมายดังนี้ (F) FACE หมายถึง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว (A) ARM หมายถึง แขน ขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก (S) SPEECH หมายถึง การพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด พูดช้า พูดไม่ได้ (T) TIME หมายถึง การให้ความสำคัญกับเวลาที่นำผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าว ส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด วินิจฉัยอย่างไร ในผู้ป่วยสมองขาดเลือด?สำหรับแนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายว่า แพทย์จะตรวจด้วยวิธีการต่างๆเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคและเพื่อทราบชนิดของสมองขาดเลือด เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดย การตรวจมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ - การซักประวัติ อาการ โรคประจำตัว ประวัติการรักษา ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว
- การตรวจร่างกาย ทดสอบการทำงานของสมอง เช่น การทดสอบกำลังของแขนขา การพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อประเมินด้านการรับรู้ เป็นต้น การตรวจวัดความดันโลหิต
- การตรวจเลือด เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงของโรค
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG) เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองได้
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT SCAN) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถหารอยโรคที่เป็นสาเหตุให้สมองขาดเลือด เพื่อวางแนวทางให้การรักษาได้ถูกต้อง
สมองขาดเลือด รักษาหายได้หรือไม่?สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 อธิบายว่า จะเป็นแนวทางการรักษที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยมีวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้ - ผู้ป่วยที่สมองขาดเลือดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะมีแนวทางการรักษาดังนี้
- การให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อช่วยเปิดหลอดเลือดให้หายอุดตัน เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อีก ระยะเวลาที่ทำให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรรีบมาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ได้มีเวลาสำหรับการวินิจฉัยและการพิจารณาข้อจำกัดของการให้ยา ถ้าหากผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดทันเวลา จะสามารถลดอัตราความพิการและอัตราการตายได้มาก
- การให้ยาป้องกันลิ่มเลือด เป็นการรักษาเพื่อป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือดในอนาคต ป้องกันการเป็นซ้ำ
- ผู้ป่วยที่สมองขาดเลือดจากสาเหตุหลอดเลือดสมองแตก มีแนวทางการรักษาดังนี้
- หยุดยาที่ทำให้เลือดออกง่าย
- ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง
- ถ้าหากก้อนเลือดมีขนาดใหญ่มาก แพทย์จะผ่าตัดเพื่อลดการกดเบียดของเนื้อสมอง
จะดูแลผู้ป่วยสมองขาดเลือดที่เป็นอัมพาต ได้อย่างไร?ผู้ป่วยสมองขาดเลือดที่มีอาการอัมพาต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดย นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ยังได้เน้นย้ำว่าญาติ หรือ ครอบครัวคนสนิท นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ ของผู้ป่วยมากที่สุด โดยมีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยสมองขาดเลือด ดังนี้ - หากผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อัมพาตครึ่งซีก จะต้องช่วยพลิกตะแคงตัวเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรีกซ้อนจากการเกิดแผลกดทับ
- การระวังอุบัติเหตุจากการสัมผัสของร้อนหรือของเย็นจัด เนื่องจากร่างกายครึ่งซีกของผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส
- การระวังอุบัติเหตุจากการตกเตียง ควรจัดหาเตียงที่ปลอดภัย มีเหล็กกั้นเตียง
- ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระวังการสำลักอาหาร ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก ควรจัดหาอาหารที่เคี้ยวง่าย กลืนง่ายและป้อนอาหารขนาดพอดีคำ
- ผู้ป่วยสมองขาดเลือดควรได้รับการรักษาด้วยการกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องด้วยการฝึกเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและข้อต่อ ถ้าหากผู้ป่วยสูญเสียความสามารถทางการพูดหรือความเข้าใจทางภาษาก็สามารถฟื้นฟูแก้ไขให้ผู้ป่วยได้มีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นได้โดยผู้เชี่ยวชาญแก้ไขการพูด
- ญาติควรให้ความสำคัญ ดูแลด้านจิตใจแก่ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยและต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด กังวล ท้อแท้ ซึมเศร้าและบางรายอาจมีการสูญเสียความทรงจำ ฟังไม่เข้าใจหรือฟังเข้าใจแต่อาจพูดสื่อสารออกมาไม่ได้ ญาติจะต้องพยายามเรียนรู้และแสดงความเข้าใจ ความใส่ใจต่อผู้ป่วย เพื่อส่งเสริมกำลังใจให้ผู้ป่วยในการฟื้นฟูร่างกาย
ป้องกันตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลภาวะสมองขาดเลือด?เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีแนวทาง ดังต่อไปนี้ - เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารหวานจัด ไขมันสูง เค็มเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ นอกจากการดูแลเรื่องพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เราควรได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มโอกาสในป้องกันภาวะสมองขาดเลือดและป้องกันความพิการจากอัมพฤกษ์อัมพาตได้
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 Phyathai Call Center 1772 |