โรคหลอดเลือดสมอง นับเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองตีบ หรือ หลอดเลือดสมองแตก ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก เน้นการรักษาที่ตรงจุด แต่ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาโรคตระกูลนี้ ก็คือ "เวลา" เพราะ ยิ่งผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือเร็วเท่าไรหลังจากมีอาการก็จะยิ่งมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหายดีหรือกลับมาเป็นปกติได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ในทุกวันนี้ ได้มีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นตัวช่วยทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดทางสมองที่เพิ่มโอกาสการรักษาให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ "การลากก้อนเลือด" การลากก้อนเลือด นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองพญาไท โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง "การลากก้อนเลือด" หรือ "Clot Retrieval" ว่า เป็นนวัตกรรรมการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดอุดตัน โดยนำก้อนเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เพื่อเปิดทางให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์สมองในบริเวณที่ขาดเลือดได้อีกครั้ง ทำให้สมองได้มีโอกาสฟื้นตัว กลับมาทำงานได้ดีขึ้น เมื่อไรถึงใช้วิธีลากก้อนเลือดในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง?
สำหรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลไม่ทันต่อการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด หรือบางรายให้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาแล้ว ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถพิจารณา การรักษาด้วยหัตถการ "ลากก้อนเลือด" ซึ่งมีเวลาให้แพทย์รักษาได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการ นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบาย เพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ด้วยวิธีลากก้อนเลือด ว่า การรักษาด้วยวิธีลากก้อนเลือด (Clot Retrieval) ที่ว่านี้ ในอเมริกาทำมานานเกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับประเทศไทยเพิ่งเริ่มทำประมาณ 2 ? 3 ปี เท่านั้น และการรักษาวิธีนี้ (Clot Retrieval) ในปัจจุบันมีเฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากแพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องมีทักษะเชี่ยวชาญและมีความพร้อมของอุปกรณ์ ซึ่งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำหัตถการลากก้อนเลือดในประเทศไทยก็มีเพียงไม่กี่คนในปัจจุบัน
ต้องมีหมอกี่คน ในการรักษาด้วยวิธีลากก้อนเลือด?
การลากก้อนเลือด เป็นหัตถการที่ต้องอาศัย ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของ รังสีแพทย์ เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) ซึ่งต้องมีความรู้ ของหลอดเลือดและการเอกซเรย์พิเศษต่างๆ และต้องอาศัยการทำงานประสานกันเป็นทีมของบุคลากรอื่นๆ เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมอง และระบบประสาท วิสัญญีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ สำหรับดูแลผู้ป่วยระหว่างการทำหัตถการและการตรวจประเมินสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยในระหว่างการทำหัตถการ เครื่องมือที่ใช้ในการลากก้อนเลือด
อุปกรณ์สำคัญสำหรับหัตถการ "ลากก้อนเลือด" ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่มีระบบเก็บภาพที่มีรายละเอียดสูง เป็นระบบดิจิตอล สร้างภาพ 3 มิติ ทำให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน สามารถทำการรักษาได้ตรงจุดโดยโรงพยาบาลพญาไท 1 ได้มีเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิด สองระนาบ (Biplane DSA) ที่ช่วยให้แพทย์สามารถใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
ขั้นตอนในการลากก้อนเลือด 1. วิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกหรือวางยาสลบ 2. แพทย์เฉพาะทางทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบ 3. กรีดผิวหนังเป็นแผลขนาดเล็ก สำหรับสอดสายสวนขนาดเล็กๆ ยาวๆ ที่มีลักษณะนิ่ม ยืดหยุ่น โค้งงอได้ตามลักษณะของหลอดเลือด 4. ใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ โดยแพทย์ใส่สายสวนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ก้อนเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง โดยเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ 5. ใส่ขดลวดขนาดเล็กผ่านเข้าไปในสายสวนจนถึงตำแหน่งของก้อนเลือด 6. ทำการปล่อยขดลวดเล็กๆ (Stent) ให้ค่อยๆ กางออกในลักษณะคล้ายตาข่ายหรือตะกร้อขนาดเล็ก เพื่อให้ขดลวดสามารถเกาะจับก้อนเลือดได้ 7. แพทย์จะค่อยๆ ลากดึงขดลวดซึ่งมีก้อนเลือดเกาะติดอยู่ในส่วนปลายผ่านออกมาทางสายสวน 8. ลากก้อนเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยผ่านออกมาทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบพร้อมกันทั้งก้อนเลือด และขดลวด 9. ดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยทางขาหนีบ 10. เมื่อแพทย์นำก้อนเลือด ขดลวดและสายสวนออกจากผู้ป่วยแล้ว พยาบาลจะกดห้ามเลือดที่ขาหนีบไว้ ประมาณ 10 - 15 นาที จนกว่าจะแน่ใจว่าเลือดหยุดไหลออกจากแผลเล็กๆที่ขาหนีบ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อสสะอาดขนาดเล็ก ผู้ป่วยต้องนอนราบบนเตียง ห้ามงอขาข้างที่ใส่สายสวนประมาณ 8 ? 12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์) พยาบาลจะตรวจวัดสัญญาณชีพเป็นระยะ และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออกจากแผล เป็นต้น
ภายหลังทำหัตถการลากก้อนเลือดออกจากหลอดเลือดสมองแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักที่หอผู้ป่วยระยะวิกฤต เพื่อสังเกตอาการเลือดออก บริเวณแผลและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมอง เฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ตรวจสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากประเมินแล้วว่าผู้ป่วยปลอดภัยดี แพทย์จึงจะอนุญาตย้ายให้ไปนอนพักฟื้นที่หอผู้ป่วยปกติได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจรักษาทางหลอดเลือดโทร. 02-640-1111 ต่อ 2271,2272
|