อัมพฤกษ์ อัมพาต ระยะวิกฤตหรือระยะเฉียบพลัน หมายถึงโรคหลอดเลือดสมองที่ผู้ป่วยมีอาการ อัมพฤกษ์ หรืออัมพาตครึ่งซีกของร่างกาย ในระยะที่เป็นใหม่ๆช่วง 7 วันแรก ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ป่วยต้องการการรักษา อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ที่มีความชำนาญ ในห้องที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย และเหมาะสมกับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตระยะเฉียบพลัน (Acute Stroke Unit) เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง (progressive stroke) ลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนจากการที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่ได้ (stroke complications) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิด ปอดอักเสบจากการสำลักอาหารที่เป็นของเหลวหรือน้ำลายเข้าปอด (aspiration pneumonia)
ภาวะและโรคแทรกซ้อนจากการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลัน การไม่มีแรงเดิน แขนขาอ่อนแรง เดินเซ กลืนลำบาก การไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองผิดปกติ ความดันโลหิตที่สูงมากกว่าปกติ รวมทั้งความบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันตนเองจากการติดเชื้อโรค ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมากในช่วง 7 วันแรกหลังเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต นำไปสู่ความพิการที่มากขึ้น และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การป้องกันภาวะและโรคแทรกซ้อนใน ไอซียู เฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ที่เรียกว่า ?หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน? หรือ ?Acute Stroke Unit? ช่วยลดอัตราตายและพิการของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันได้ 20-30% ภาวะและโรคแทรกซ้อนจากการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันที่พบได้บ่อย อาการทรุดลงในระยะเริ่มต้น (Progressive stroke) พบได้ประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันระยะ 3 วันแรก ทำให้อาการทรุดลง เช่น จากพอเดินได้ ยกแขนได้ แล้วอาการทรุดลงจนเดินไม่ได้ ยกแขนกำมือไม่ได้ ใน 2-3 วันแรก อาจจะเกิดที่บ้าน (รายที่ไม่ได้ไปโรงพยาบาล) หรือระหว่างได้รับการรักษาในโรงพยาบาล การป้องกันไม่ให้เกิดอาการทรุดลง เป็นสิ่งที่ทำได้ โดยแพทย์ที่ดูแลต้องทราบถึงสาเหตุ กลไกการเกิดโรค คาดการณ์ได้และป้องกันการทรุดลงแต่เนิ่นๆ โรคปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration pneumonia) เกิดได้จากการสำลักน้ำลาย หรืออาหารเหลว เข้าหลอดลมและลงในปอด ทำให้ปอดอักเสบ เกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก ซึ่งพบได้ 30-50%ของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ 10-20% การทดสอบการกลืน (Swallowing test) เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงพยาบาล และการพยาบาลที่เข้าใจถึงกลไก การเกิดโรค การเอาใจใส่ การจัดท่าผู้ป่วยให้สำลักลดลง การทำความสะอาดในช่องปาก ช่วยป้องกันการเกิดปอด อักเสบได้ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว การรักษาแต่เนิ่นๆจะทำให้ผู้ป่วยหายเร็ว และไม่ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์อัมพาต ทรุดลงในระยะเฉียบพลัน
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การที่ปัสสาวะไม่ออกหรือออกไม่หมด ทำให้ปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคค้างและเพิ่มจำนวนขึ้น แล้วลุกลามไปที่ไต ทำให้กรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยมีไข้ขึ้น หนาวสั่น ทำให้ความดันต่ำ ช็อก และทำให้อัมพาตทรุดลง ถ้าเชื้อโรคเข้ากระแสโลหิตทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การพยาบาลที่เอาใจใส่การบันทึกและเฝ้าระวังการปัสสาวะลำบาก การสวนปัสสาวะร่วมกับการให้ยา ที่ทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น ช่วยลดการเกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบได้
โรคแผลกดทับ เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่มีแรงพลิกตัวไปมา ทำให้นอนทับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนานเกินไป ผิวหนังของส่วนนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ผิวหนังตาย พองหลุดลอกออก เชื้อโรคเข้าไปในเนื้อใต้ผิวหนัง เกิดการอักเสบ ถ้าทิ้งไว้จะลุกลามกินลึกลงไปเรื่อยจนถึงกระดูก ระยะนี้การรักษาลำบากมาก ป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อเลือดไปเลี้ยงผิวหนังได้ทุกส่วนสลับกันไป ปัจจุบันภาวะนี้พบได้น้อยมาก จากการที่เข้าใจกลไกการเกิด และการพยาบาลที่ดีขึ้น
โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันโดยลิ่มเลือด (Deep vein thrombosis) เกิดจากการที่ขาไม่เคลื่อนไหว เลือดดำที่ไหลช้าอยู่แล้วเกิดแข็งตัวจับกันเป็นลิ่มเลือด อุดตันหลอดเลือดดำที่ขา เป็นได้ตั้งแต่น่องจนถึงโคนขา การที่ขาบวมไม่มีอันตราย แต่อันตรายเกิดจากลิ่มเลือดหลุดไปเข้าหัวใจ แล้วหลุดต่อเข้าไปในปอด อุดตันหลอดเลือดแดงของปอด ทำให้เนื้อปอดตาย ผู้ป่วยจะหายใจเร็ว หอบ โดยไม่มีไข้ ถ้าเนื้อปอดตายมาก ทำให้เสียชีวิตได้ ควรป้องกันไม่ให้เกิดโดย การใส่ถุงเท้าที่บีบรัดขาไล่จากตาตุ่มขึ้นไปต้นขา อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ลมช่วย ในวันที่สองหลังเป็นอัมพาตเฉียบพลัน หรืออาจจะใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานหรือฉีดเข้าในผิวหนัง หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ของโรงพยาบาลพญาไท1 (Phyathai Acute Stroke Unit) เป็นห้องไอซียูขนาด 7 เตียง รับรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันใน 3 วันแรกที่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตวิกฤตที่ต้องดูแลใกล้ชิด และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังผ่าตัด มีแพทย์ระบบประสาท แพทย์ผ่าตัดสมอง พยาบาลที่มีความรู้ความเข้าใจโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดที่ดูแลเรื่องการกลืน เภสัชกรและนักกำหนดอาหาร เป็นทีมดูแลผู้ป่วย ร่วมกับการมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลันโดยเฉพาะ มีจุดมุ่งหมายในป้องกันและแก้ไขโรคแทรกซ้อนอย่างทันที หลังจากเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน โดยการดูแลผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่ และรักษาตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากอัมพฤกษ์อัมพาต ลดความพิการและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจรักษาทางหลอดเลือดโทร. 02-640-1111 ต่อ 2271,2272
|