การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเลี้ยงเฉียบพลัน ที่มาถึงโรงพยาบาลก่อน 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาพบแพทย์ได้เร็ว เนื้อสมองที่ขาดเลือดยังไม่ตายทั้งหมด จึงใช้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) ที่อุดตัน เพื่อหวังว่าเมื่อก้อนเลือดละลายแล้ว เลือดจะกลับมาเลี้ยงสมองบางส่วนที่ยังไม่ตายและสมองฟื้นกลับมาได้ ยาละลายลิ่มเลือดมีข้อเสียคือทำให้เลือดหยุดช้า เกิดอันตรายถ้ามีจุดเลือดออกในร่างกาย จึงไม่สามารถให้กับผู้ป่วยได้ทุกราย แพทย์ที่มีความชำนาญในการให้ยา จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยผู้ป่วยต้องได้รับยาภายใน 3 ชั่วโมงหลังมีอาการ (บางโรงพยาบาลขยายเวลาเป็น 4 ชั่วโมงครึ่ง) ทั้งนี้ต้องให้เวลากับแพทย์แพทย์ประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรค ดูผลเลือด และดูภาพถ่ายสมอง ก่อนตัดสินใจให้ยา ซึ่งการให้ยาฉีดครั้งเดียวได้ผลดีประมาณ 30% แต่อาจจะมีเลือดออกในสมองได้ 7% และมีโอกาสเสียชีวิตจากยาได้ 3% ของจำนวนผู้ป่วยที่ได้ยา เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา
กลุ่มที่มาถึงโรงพยาบาลหลัง 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื้อสมองที่ขาดเลือดจะตายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด การเปิดหลอดเลือดโดยยาละลายลิ่มเลือดไม่ช่วยทำให้เนื้อสมองฟื้นตัว แต่อาจทำให้มีโอกาสเลือดออกในเนื้อสมองเพิ่มขึ้นได้ จึงห้ามใช้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีดังนี้
1.ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) ผู้ป่วยที่มีอาการจากหลอดเลือดสมองอุดตัน มีโอกาสเป็นซ้ำได้ประมาณ 10% ในสัปดาห์แรก การให้ยาต้านเกล็ดเลือดภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการจะช่วยลดการเป็นซ้ำได้ประมาณ 25% ยากลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน (aspirin) คลอพิโดเกล (clopidogrel) ไดไพริดาโมล (dipyridamole) ผสมกับแอสไพริน ไซลอสตาซอล (cilostazol) และไตรฟูซอล (trifuxal)
2.ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant) แพทย์บางท่านเรียกยากลุ่มนี้ว่า ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาละลายก้อนเลือด ซึ่งอาจจะสับสนกับยากลุ่ม trombolysis ได้ ยากลุ่มนี้เลือกใช้ ในกรณีที่การอุดตันของหลอดเลือดเกิดจากก้อนเลือดในช่องหัวใจหลุดออกมาติดในหลอดเลือดสมองและมักใช้ในกรณีที่หลอดเลือดสมองมีขนาดไม่ใหญ่มาก เวลาที่เริ่มใช้ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละท่านและยังใช้ป้องกันหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันจากการเป็นอัมพาต ยามีทั้งชนิดฉีดและชนิดเม็ดรับประทาน ชื่อยาได้แก่ เฮบปะริน (heparin) เป็นชนิดฉีด และวอร์ฟาริน (warfarin) เป็นเม็ดรับประทาน
3.ยาลดความดันเลือด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีความดันสูงกว่าที่เคยวัดได้ก่อนเป็นโรค ความดันที่สูงมากอาจทำให้เลือดออกในเนื้อสมองส่วนที่ตายแล้ว หรือทำให้สมองบวนเพิ่มขึ้นกว่าที่ควร แพทย์มักจะให้ยาลดความดันเมื่อความดันสูงกว่า 220/120 มม.ปรอท และในกรณีที่จะให้ยาละลายลิ่มเลือด (throbolytic drug) แก่ผู้ป่วย ควรจะลดความดันเมื่อความดันสูงกว่า 185/110 มม.ปรอท
4.ยาป้องกันเซลล์ในสมองตาย หรือยาบำรุงเซลล์ในสมอง (Neuroprotective และ Neurotropic drugs) มีการศึกษาการใช้ยากลุ่มนี้มานานหลายปีและหลายสิบชนิด เช่น ยาซิติโคลีน (Citicoline) และ ยานิวโรเปปไทด์ ผลการศึกษาบ่งว่ามีผลดีแต่อาจไม่ค่อยชัดเจน และมีผลข้างเคียงน้อยมาก โดยต้องให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีความพยายามศึกษายาตัวใหม่ ในกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ
การศึกษาอย่างอื่น เช่น การทำให้เลือดใสขึ้น การลดอุณหภูมิร่างกาย การให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง และการฝังเข็ม ซึ่งมีการศึกษาทดลองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉียบพลัน แต่ผลการรักษายังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีประโยชน์จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 โทร.0-2640-1111 ต่อ 2690 |