การใช้ชีวิตแต่ละวันเราอาจให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารหรือออกกำลังกายน้อยเกินไปเพราะต้องเร่งทำงานหรือทำสิ่งอื่นๆ บางคนเวลาแค่ 24 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอกับสิ่งที่ต้องทำ นั่นจึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อร่างกาย โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่ระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการ แต่พอสะสมไปนานๆ อาจแสดงอาการเฉียบพลัน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่เกิดจากสภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์สมองซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการสั่งงานของกล้ามเนื้อ และการรับรู้ความรู้สึกสูญเสียไป ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว ชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ทรงตัวได้ไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก และปวดหัว อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นบางอย่างหรือพร้อมกันขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของสมองขาดเลือด โรคนี้สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
กลไกในการเกิดโรคนั้นหลากหลาย บางรายเกิดจากมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดสมอง หรือลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจ และผนังหัวใจหลุดลอกตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน โรคหัวใจ สูบบุหรี่เป็นประจำ มีไขมันในเลือดสูง ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
สิ่งที่น่าห่วงหลังการรักษาเกิดจากภาวะอ่อนแรงตามแขนขา จนไม่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ และการฝึกเดิน แต่เดิมใช้นักกายภาพบำบัดเพื่อคอยช่วยเหลือคนไข้ในการพยุงเดิน เนื่องจากการฝึกเดินนั้นต้องใช้เวลาในการฝึกนานพอสมควรเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้เเละพัฒนาทักษะในการเดิน โดยผู้ป่วยเองต้องใช้แรงในการฝึกเดินและนักกายภาพต้องออกเเรงในการช่วยพยุง ทำให้เกิดภาวะเมื่อยล้า การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการใช้งานมากเกินไป ขาดความสม่ำเสมอในการฝึก และ ไม่สามารถกำหนดความเร็วในการก้าวเดินที่เหมาะสมได้
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้คิดค้นประดิษฐ์หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน และหุ่นยนต์ช่วยในการฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน มาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของคนไข้ โดยหุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินตัวเครื่องจะมีสายช่วยพยุงตัว ส่วนขาที่เป็นหุ่นยนต์จะช่วยให้คนไข้เดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ
หุ่นยนต์ฝึกเดินนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยฝึกเดินนานขึ้นอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่มี และกำหนดความเร็ว แรงพยุงตัวและ แรงที่หุ่นยนตร์ขาช่วยพยุงในการก้าวเดินให้ที่เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะราย ขณะเดียวกันมีระบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลในการฝึกของผู้ป่วยแต่ละครั้งเพื่อนำไปพัฒนาในการรักษาต่อไป ช่วงเวลาที่คนไข้ฝึกจะมีจอแสดงภาพในลักษณะของเกมให้เล่น เพื่อส่งเสริมการฝึกให้ได้ทักษะที่ต้องการ และ สร้างแรงจูงใจในการฝึกสร้างความสนุกสนาน กำหนดเป้าหมายในการฝึกแก่คนไข้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเบื่อหน่ายในฝึก อีกทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยระหว่างฝึก มีเซนเซอร์จับการเกร็งต้านของกล้ามเนื้อเครื่องจะหยุดทันทีเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และมีอุปกรณ์พยุงตัวที่เเข็งแรงเพื่อป้องกันการล้ม ซึ่งการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์นี้จะช่วยทำให้คนไข้โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีภาวะอ่อนแรงกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถลุก เคลื่อนไหวร่างกายเองได้สามารถเข้าร่วมการฟื้นฟู ลดภาวะติดเตียง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือด สมองตีบ เช่น การเกิดแผลกดทับ กล้ามเนื้อตึงรั้งและข้อยึดติด โรคกระดูกพรุน เป็นต้น โดยเครื่องนี้สามารถฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาของระบบประสาทที่มีภาวะอ่อนแรง เช่น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง กลุ่มประสาทไขสันหลังบาดเจ็บหรือถูกกดทับ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โดยคนไข้ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ว่าไม่มีโรคที่เป็นอันตราย เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอดชนิดรุนแรง ภาวะข้อติดเเข็ง เป็นต้น ส่วนการเตรียมตัวของคนไข้ก่อนที่จะใช้หุ่นยนต์ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารมาก่อนครึ่งชั่วโมง ใส่เสื้อผ้ารัดกุมเหมาะสำหรับการออกกำลังกาย และสวมรองเท้าชนิดหุ้มส้น
|