โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หมายถึงอะไร?
หมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกเบียดทับเนื้อสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) หรือหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิต สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (ischemic stroke)- เกิดจากการมีการสะสมของตะกอนไขมัน หรือ หินปูน เรียกว่า Plaque เกาะที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้รูของหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เนื้อสมองตาย
- เกิดจากลิ่มเลือดหลุดมาจากหัวใจ มาอุดที่หลอดเลือดสมอง มักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (atrail fibrillation)
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke)เกิดจากความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือด ทำให้มีความเปราะบางและแตกง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆหรือการควบคุมความดันโลหิตไม่ดี อัตราการเกิดโรคโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน พบบ่อยกว่า โรคหลอดเลือดสมองแตก ประมาณ 4 เท่า ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่สำคัญที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ที่อันดับ 1 ทั้งหญิงและชาย ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง- อายุเกิน 45 ปี อายุเพิ่มขึ้น โอกาสเสี่ยงยิ่งมากขึ้น เพราะอายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่อมของผนังหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่ เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด
- ไขมันในเลือดสูง ทำให้มีการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด
- โรคอ้วน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดการออกกำลังกาย
- ความเครียด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
ผลกระทบเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง- เกิดความพิการ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต
- ทำให้บางรายเดินไมได้ต้องนอนอยู่กับเตียงนาน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ เป็นต้น มีโอกาสเสียชีวิตในเวลาต่อมา
- บางรายนั่งรถเข็น เดินได้บ้าง แต่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่ การทำกิจวัตรประจำวันต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ทำให้เกิดความทุกข์ใจและกาย
- ครอบครัวต้องแบ่งเวลามาดูแลญาติที่ป่วย ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ และต้องเสียทรัพย์ในการดูแลรักษามากมาย
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง- ชาครึ่งซีก บากเบี้ยว
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
- มีอาการพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ควรปล่อยไว้ หรือสังเกตอาการเองที่บ้านการตรวจวินิจฉัย- จากการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเกี่ยวกับระบบประสาท
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT brain) สามารถแยกชนิดว่าเป็นภาวะของหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือเลือดออก
- เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) สามารถเห็นบริเวณที่สมองขาดเลือด
- การตรวจเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองหลอดเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ
การรักษา- การเปิดหลอดเลือดโดยการให้ยา ละลายลิ่มเลือดหรือการใช้ขดลวดเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตันออก
- การผ่าตัด
- การทำกายภาพบำบัด
- การรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือด
- โดยให้ยาละลายลิ่มเลือด tissue plasminogen activator (TPA) เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ อาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จะดีขึ้น สามารถลดอัตราความพิการของผู้ป่วยได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับยา TPA ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดข้อบ่งชี้ของการให้ยา TPA - ผล CT Scan พบว่าไม่มีภาวะเลือดออกหรือเนื้อสมองตาย
- ระยะเวลาให้ยา TPA ไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ เพราะเซลล์สมองขาดออกซิเจนนานเกินไป จะทำให้เซลล์สมองตายไม่ฟื้น
- ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น มีภาวะเส้นเลือดสมองโป่งพอง มีภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน ค่าความแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ง่าย ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย
ฉะนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์ต้องพิจารณาซักประวัติตรวจร่างกาย ผลเลือด ผลเอกซเรย์ ดูยาที่ผู้ป่วยรับประทานประจำ และพิจารณาข้อห้ามต่างๆ ประกอบการตัดสินใจในการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด การให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว จะทำให้ผลลัพธ์ในการรักษาดีขึ้น และสิ่งสำคัญญาติหรือผู้ป่วยควรจะพยายามให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาของการเริ่มมีอาการผิดปกติ - ใช้ขดลวดสอดในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ที่มาโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง สามารถเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในสมองโดยการฉีดสารทึบรังสี เข้าไปที่หลอดเลือดเพื่อให้สามารถทราบตำแหน่งที่อุดตันได้ชัดเจนและใส่สายสวนเล็กๆ ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ปลายสายมีขดลวดเล็กๆ สำหรับคล้องเกี่ยวเอาลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้หลอดเลือดเปิดเลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น (ใช้เวลาในการทำ 1 ? 5 ชั่วโมง) ความยากง่ายของการทำขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดและลิ่มเลือด ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นทันทีหลังทำ บางรายขยับแขนขาไมได้ วันรุ่งขึ้นสามารถเดินได้
- การผ่าตัด - แพทย์จะพิจาณาผ่าตัด กรณีที่สมองบวมจนกดเบียดเนื้อสมองที่ดี หรือเบียดก้านสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลง หมดสติ หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิต เป้าหมายของการผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะและป้องกันสมองส่วนที่ดีอื่นๆ โดนทำลายเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต
แพทย์หญิง นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้กล่าวถึงการรักษาดูแลผู้ป่วย Stroke ไว้ดังนี้ ?การรักษาดูแลผู้ป่วย stroke อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยลดอัตราความพิการ และการเสียชีวิตได้มาก และช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงกับสภาวะเดิมของผู้ป่วยมากที่สุด ประสิทธิภาพของการรักษาดูแลผู้ป่วย stroke นั้นต้องประกอบไปด้วย ความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ การวางระบบงานที่ดี ซึ่งทางโรงพยาบาลพญาไท 1 มีความพร้อมครบวงจร ดังที่จะกล่าวต่อ ดังนี้ ? - ความพร้อมทางด้านบุคลากร ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะด้านสำหรับผู้ป่วย stroke มีทีมดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ประกอบด้วยสหวิชาชีพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและหลอดเลือดสมอง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลเฉพาะทาง นักกายภาพบำบัด โภชนากร รังสีวิทยา เภสัชกร เป็นต้น
- ความพร้อมด้านสถานที่และเครื่องมือ โรงพยาบาลพญาไท 1 มีแผนก Acute Stroke Unit สำหรับดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติทางโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ มีอัตรากำลังของพยาบาล เฉพาะทางอย่างเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรอื่นที่ได้รับการอบรมสม่ำเสมอและมีทักษะในการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น การป้องกันการเกิดแผลกดทับ การป้องกันปอดอักเสบ เป็นต้น ส่วนทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่สำคัญมีครบ เช่น เครื่อง CT scan และ MRI ทำให้สะดวกรวดเร็วในการวินิจฉัยและรักษา (ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดที่มารักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ทุกรายจะได้รับการทำ MRI brain)
ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ทางโรงพยาบาลพญาไท 1 จะมีรถฉุกเฉิน Mobile Stroke Unit ที่สามารถทำ CT scan ได้เลยตั้งแต่ผู้ป่วยอยู่ในรถก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น - มีการวางระบบงานที่ดี เพื่อให้บุคลากรทำงานสอดประสานกันอย่างทันการณ์ เช่นการกำหนดเกณฑ์ประเมินผู้ป่วย stroke กำหนดแผนการรักษาล่วงหน้าไว้ ที่แผนกฉุกเฉิน หรือที่รถฉุกเฉินที่ไปรับผู้ป่วยจากบ้าน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตั้งแต่แรกรับ มีการกำหนดทีมบุคลากรการแพทย์ที่เชี่ยวชาญพร้อมรับผู้ป่วย stroke ตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อมีการประกาศ "Stroke Alert" ทางเสียงตามสาย มีการจัดช่องทางด่วน (Stroke Fast Track) เพื่อความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ การเจาะเลือด การตรวจ CT scan และ MRI รับทั้งการเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยของหอผู้ป่วยวิกฤติ (Acute Stroke Unit)
กระบวนการทั้งหมด ของโรงพยาบาลพญาไท 1 เริ่มนับตั้งแต่ เริ่มรับผู้ป่วยเข้ามา ทำการประเมินผู้ป่วย เจาะเลือด การเอกซเรย์ต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจวินิจฉัย การพิจารณาข้อห้ามและข้อบ่งชี้ของการฉีดยาละลายลิ่มเลือด จนกระทั่งแพทย์พิจารณาเห็นสมควรให้ยาละลายลิ่มเลือด และแจ้งข้อมูลให้ญาติทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ ใช้เวลาประมาณ 15 ? 45 นาที
นอกจากความพร้อมรับผู้ป่วย Stroke ของทางโรงพยาบาลแล้ว สิ่งที่ พ.ญ.นภาศรี เน้นว่า มีความสำคัญมากๆ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้ป่วยหรือญาติ ต้องสังเกตอาการเมื่อพบความผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด (อย่างน้อยไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง) นับจากเริ่มมีอาการ ด้วยการยึดหลักง่ายๆ "F-A-S-T" - F = Face ใบหน้าอ่อนแรงปากเบี้ยว
- A = Arm แขนขาอ่อนแรง
- S = Speech พูดไม่ออก พูดไม่ชัด
- T = Time พบแพทย์เร็วที่สุด
การดูแลผู้ป่วย stroke ในระยะยาว- การควบคุมความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือด ด้วยการรับประทานยาและพบแพทย์สม่ำเสมอ
- การดูแลเรื่องอาหาร
- งดอาหารเค็ม ควบคุมน้ำตาล ควบคุมอาหารไขมัน เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วย stroke มักมีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ร่วมด้วย
- หากผู้ป่วยรับประทานไม่ได้ อาจ ให้อาหารทางสายยางให้อาหาร (หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ)
- หากรับประทานเองได้ ควรระวังการสำลัก ให้อาหารอ่อน
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในรายที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อและเอ็นหดตัว ป้องกันข้อติด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดรวมทั้งการฝึกเดิน
- สิ่งที่ญาติควรเรียนรู้ก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับไปพักต่อที่บ้านในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือช่วยเหลือตัวเองไมได้เลย เช่น การป้อนอาหารระวังการสำลัก การให้อาหารทางสายยาง การเตรียมอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลการขับถ่าย การใช้รถเข็น การทำกายภาพบำบัด การป้องกันแผลกดทับ การป้องกันภาวะปอดบวม การให้ยาผู้ป่วย การพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัด การสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีไข้ ซึมลง เป็นต้น
ผลกระทบทางด้านจิตใจผู้ป่วย stroke บางรายมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ไม่เข้าใจภาษา การขับถ่ายไม่สะดวก ต้องพึ่งพาญาติให้ช่วยเหลือ เกิดความรู้สึกสูญเสียภาพลักษณ์ เข้าสังคมไมได้เหมือนเดิม ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าบางรายอาจคิดฆ่าตัวตาย บางรายท้อแท้ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ฉะนั้นญาติควรเข้าใจและเห็นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นเตือนผู้ป่วยในการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น ในส่วนที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ควรให้ทำเอง เช่น การตักอาหารรับประทานเอง การสวมใส่เสื้อผ้า เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเริ่มจากต้องหาปัจจัยเสี่ยงก่อน และหลีกเลี่ยง ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของ stroke ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด หลีกเลี่ยง บุหรี่ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆละ 30 นาที เมื่อมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อ stroke ให้ควบคุมโรคให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ รวมทั้งการรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พญ.นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และหลอดเลือดสมอง รพ.พญาไท 1 Phyathai Call Center 1772 |