"ความดันโลหิตสูง"...เพชฌฆาตเงียบๆ!! แต่อันตราย เพียบ!! กว่าที่คิด
"ปวดหัวจัง สงสัยความดันขึ้น!!!" น่าจะเป็นประโยคที่เราคุ้นเคยกันบ้างไม่มากก็น้อย หรือดีไม่ดีอาจจะเป็นเคยพูดประโยคนี้เองด้วยซ้ำไป ซึ่งหลายครั้งที่เรารู้สึกว่าอาการปวดหัว เวียนหัว ที่ประสบ อาจมีสาเหตุมาจาก ภาวะความดันโลหิตสูง แต่วิธีการแก้ไข กลับเป็นการนิ่งเฉยเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะโดยทั่วไปก็มักจะทานยาแก้ปวด หรือไม่ก็นอนพักให้หายไปเอง แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะความดันโลหิตสูงที่ว่านี้ ถือเป็นโรคร้ายแรงไม่ใช่เล่น เพียงแต่รอเวลาให้ถึงจุดที่จะแสดงอาการรุนแรงเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า เป็น เพชฌฆาตเงียบ แต่แฝงไปด้วยอันตรายเพียบ ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม
ความดันโลหิต คืออะไร?
เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้น นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 จึงได้อธิบายถึงความหมายของความดันโลหิตเพิ่มเติมว่า
"ความดันโลหิต" (Blood Pressure) หมายถึง ความดันภายในหลอดเลือดแดง เป็นแรงดันที่กระแสเลือดกระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความแรงของการสูบฉีดเลือดและความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด ทั้งนี้ เวลาที่เราไปตรวจสุขภาพกับทางโรงพยาบาล ทุกคนจะเคยผ่านการวัดความดัน ซึ่งอาจจะเห็นได้ว่า ค่าความดันโลหิต ที่วัดออกมาได้นั้น จะมีตัวบนกับตัวล่าง ซึ่งสามารถอธิบายเพิ่มเติมต่อได้ ดังนี้
"ค่าความดันโลหิต" มีหน่วยเป็นมิลิเมตรปรอท เช่น 120/80 ม.ม. ปรอท ซึ่งบอกเป็นตัวเลข มี 2 ค่า คือ
- ความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายเป็นตัวเลขที่สูงกว่า หรือเรียกว่าความดันโลหิตตัวบน
- ความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) มีค่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าหรือเรียกว่า ความดันโลหิตตัวล่าง
ความดันเท่าไร จึงเรียกว่าปกติ?
นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ให้ความรู้เกี่ยวกับค่าความดันโลหิตปกติว่า โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ ค่าความดันโลหิตที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ค่าความดันตัวบนต้องไม่เกิน 139 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างต้องไม่เกิน 89 มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 120 / 80 มม.ปรอท
ค่าความดันโลหิตเท่าไร?จึง ...เรียกว่าสูง
การที่จะเรียกว่าความดันโลหิตสูงนั้น ต้องมีค่าความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอทและตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท (หรือ ? 140/90 ม.ม. ปรอท)
การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้น แพทย์จะต้องวัดความดันซ้ำหลายครั้ง หลังจากผู้ป่วยพัก จนแน่ใจแล้วว่า ความดันโลหิตสูงจริง
สถิติความดันโลหิตสูง : เพชฌฆาตเงียบที่คุณอาจไม่รู้
องค์การอนามัยโลก ระบุว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเกือบพันล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งพบว่า ผู้สูงอายุในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย 1 ใน 3 คน มีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของการตายก่อนวัยอันควรทั่วโลก
จากการสำรวจสุขภาพของประชาชนไทย พบว่าในผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ปี พ.ศ.2552 พบ มีการสูญเสียจากอัมพฤกษ์อัมพาต เนื่องมาจากความดันโลหิตสูง เป็นลำดับที่ 3 ในเพศชาย และเป็นลำดับที่ 2 ในเพศหญิง
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุสำคัญของความพิการและการตายก่อนวัยอันควร โดยที่หลายคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ทันรู้ตัวเสมือนเป็น "เพชฌฆาตเงียบ"
โรคความดันโลหิตสูง มีสาเหตุมาจากอะไร?
ภาวะความดันโลหิตสูงจัดเป็นโรคที่พบได้มากในผู้ใหญ่ โดยพบได้มากถึงร้อยละ 25-30 ของประชากรทั่วโลก และยิ่งพบมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้กล่าวสาเหตุสำคัญที่ส่งผลทำให้มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ว่ามาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ดังนี้
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างเหมาะสม พบว่าผู้ป่วยมักจะชอบบริโภคอาหาร หวานจัด มันมาก ไขมันสูง รสเค็ม โดยเฉพาะอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณที่สูงหรือ รับประทาน ผัก ผลไม้ ที่มีรสหวานน้อย ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายปล่อยให้อ้วนเกินมาตรฐาน
- มีพฤติกรรมที่ดื่มแอลกอฮอล์มากและการสูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการของโรคความดันโลหิตสูง?จะสังเกตอย่างไร?
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระดับอ่อนหรือปานกลาง มักไม่ค่อยมีอาการใดๆ แสดงให้ทราบส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการตรวจคัดกรอง หรือการตรวจพบโดยบังเอิญ จากการมาพบแพทย์ด้วยภาวะอื่นๆ เมื่อผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาการดูแลอย่างเหมาะสมและทันเวลา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำลายอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทีละน้อย จนเกิดผลแทรกซ้อน เช่น
- ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากหลอดเลือดสมองแตก
- ทำให้หัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัว
- ทำให้ไตเสื่อมสภาพ
และด้วยเหตุที่ ผู้ป่วยจำนวนมากจึงมาโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคแทรกซ้อนดังกล่าว จึงมักเรียกโรคนี้ว่า ?เพชฌฆาตเงียบ? เพราะกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงอาการแสดงของภาวะความดันโลหิตสูงว่า หากมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับรุนแรง (มากกว่าหรือเท่ากับ 180/110 ม.ม.ปรอท) ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีอาการ ดังต่อไปนี้
- เลือดกำเดาไหล
- เหนื่อยง่าย
- ปวดศีรษะ
- มึนงง
แต่อาการเหล่านี้ก็ไม่จำเพาะเจาะจงกับภาวะความดันโลหิตสูงเสมอไป เพราะอาจเป็นจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากความเครียด อาการเหนื่อยง่ายอาจเกิดจากภาวะโลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาดูแลอย่างถูกต้องต่อไป
มีวิธีการอย่างไร ตรวจวินิจฉัยความดันโลหิตสูง?
การตรวจวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากจะตรวจด้วยอุปกรณ์วัดค่าความดันโลหิตแล้ว แพทย์จะต้องมีการซักประวัติของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น สอบถามอาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล(เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น) ประวัติโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ในปริมาณที่มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งระยะเวลาของการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ประเภทของอาหารที่ชอบรับประทาน ของหวาน ไขมัน อาหารเค็ม เพื่อประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของไต ดูระดับไขมันในเลือด เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการเลือกตรวจอย่างเหมาะสม
โรคความดันโลหิตสูงรักษาได้อย่างไร ?
สำหรับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ชี้แจงว่า การรักษามีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง คือ การใช้ยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต และแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- การเลือกรับประทานอาหาร ที่มีสัดส่วนเหมาะสม ลดปริมาณไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ลดอาหารเค็ม ลดการเติมเกลือ (โซเดียม) หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เช่น ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน ควรรับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวานจัดให้มาก
- การออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ววันละ 40 นาที สม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน ควบคุมให้ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ 18.5 ? 23 กก. / ตร.ม.
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงความเครียดต่างๆและควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานยาที่แพทย์กำหนด สม่ำเสมอ ถูกต้องตามเวลาและขนาดของยา
- พบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลของการรักษาและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หรือพิจารณาปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
แพทย์จะเป็นผู้พิจารราการใช้ยา เลือกชนิดของยาและขนาดยา ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดต้องมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาเองหรือปรับขนาดยาโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต ในปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิตระบบดิจิตอล ทำให้ผู้ป่วยสามารถวัดความดันโลหิตได้เองที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีขึ้น
การดูแลตนเองอย่างถูกต้อง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การรักษาควบคุมระดับความดันโลหิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ผู้ป่วยบางรายที่มีระดับความดันโลหิตที่สูงไม่มาก และดูแลตนเองดี สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยแพทย์ไม่ต้องให้ยาควบคุม ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดังนี้
ป้องกันได้อย่างไร ถ้าไม่อยากให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง?
จากข้อมูลการสำรวจที่พบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว ปล่อยไว้จนกระทั่งเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงทำให้เกิดความพิการ หรือตายก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะต้อง มีการรักษาที่ซับซ้อนยุ่งยาก ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีที่สุดจึง คือ การ "รู้ตัวก่อน...ปลอดภัยกว่า" โดยมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน ดังนี้
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรจะตรวจวัดความดันโลหิตให้ถี่ขึ้น
- หากตรวจพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำปรึกษา และรับการรักษาโดยทันที
- ควรรักษาตัวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดตามมา
นอกจากนี้ นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิชแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ยังทิ้งท้ายถึงแนวทางการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงไว้ด้วยว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เป็นการวิธีป้องกันที่สำคัญ ทุกท่านสามารถเริ่มปฏิบัติได้ทันที ไม่ควรรอให้เกิดโรคก่อนจึงจะหันมาให้ความสนใจ หลักสำคัญที่ควรปฏิบัติ คือ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม ให้เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด ควรออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและควรงดสูบบุหรี่ ทำจิตใจให้แจ่มใส จะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี อายุยืนยาวและอยู่อย่างเป็นสุขได้