ชาด้านหนึ่งด้านใดทันที ระวังให้ดี อาจเสี่ยงอัมพาต
อาการชา อาจดูเป็นอาการเล็กน้อยมากๆ สำหรับคนเรา เพราะในชีวิตประจำวันนั้น เวลาที่เรานั่งนานๆ หรือ ทำกิจกรรมอะไรสักอย่างต่อเนื่องโดยมีการกดทับ หรือให้น้ำหนักกับอวัยวะบริเวณนั้นมากๆ ก็อาจเกิดอาการชาขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะเป็น "เหน็บชา" หรือ เป็นเพียงแค่การชาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพอเมื่อไม่รุนแรง เราก็เลยไม่ค่อยได้ตระหนักว่า บางครั้ง อาการชาด้านหนึ่งด้านใดในทันที ที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา แล้วเป็นบ่อยๆ อาจไม่ใช่เพียงแค่อาการชาธรรมดา แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคร้ายอย่างโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีโอกาสทำให้เราเสี่ยงเป็นอัมพาตได้โดยไม่คาดคิด
อาการชา คือ อะไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงอาการชา ว่า เป็นอาการที่อาจเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท ไขสันหลัง หรือ สมอง ในส่วนที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก ซึ่งก็มีสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งนี้ อาการชาสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่โดยมาก มักเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า แขน ขา มือ และ เท้า นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เรามักจะมีอาการชาเกิดขึ้นที่แขนและขาเป็นส่วนใหญ่ โดย เมื่อร่างกาย หรือ อวัยวะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตามเกิดอาการชาขึ้น จะส่งผลให้การรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บปวด หรือ การรับรู้สึกจากการสัมผัส
ชาด้านหนึ่งด้านใดทันที พร้อมอ่อนแรง บ่งบอกอะไร?
โดยปกติแล้วอาการชาจะมีผลทำให้การรับรู้ความสึกของเราสูญเสีย หรือ ลดน้อยลง แต่หากในขณะที่เรามีอาการชาด้านหนึ่งด้านใดทันที แล้วเกิดความรู้สึก ?อ่อนแรง? พร้อมๆ กันไปด้วย นั่นถือเป็นสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างอันตราย เพราะ มีความเป็นไปได้ว่า อาการชานั้น จะมีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติจากหลอดเลือดสมอง โดยอาจนำมาซึ่งภาวะสมองขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบตัน จนอาจถึงขั้นแตก และเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
อาการอ่อนแรง คือ อะไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง "อาการอ่อนแรง" ว่า มีสาเหตุหลักเกิดมาจาก ระบบประสาทสั่งการเกิดความผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากบริเวณระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งประกอบไปด้วยสมองและไขสันหลัง หรือ ระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งได้แก่ เซลล์ประสาทในไขสันหลัง เส้นและรากประสาท และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะการอ่อนแรง ร่างกายจะไม่สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ โดยอาจสังเกตง่ายๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ยกแขนไม่ขึ้น ขาไม่มีแรง เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการอ่อนแรงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันทันที พร้อมๆ กันกับอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนได้ว่า เกิดมีความผิดปกติที่ระบบการสังการแล้ว เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการผิดปกติเหล่านี้ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันการณ์
ชาข้างหนึ่งข้างใดทันที มีสาเหตุเกิดได้จากอะไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงสาเหตุของอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันทีว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- เกิดจากความผิดปกติของปลายประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบ จากโรคเบาหวาน
- เกิดจากภาวะของโรดหลอดเลือดทางสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ แตก หรือ อุดตัน
- ร่างกายขาดวิตามินบี 12
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด เช่น เลือดแข็งตัว
- เกิดจากความผิดปกติของหมอนรองกระดูก เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- แพ้ยา หรือ แพ้อาหารบางชนิด
- ได้รับพิษจากการถูกแมลงกัดต่อย
- ได้รับสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณมากๆ
- เกิดจากภาวะแทรกซ้อนในโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง
- ดื่มสุรา และ สูบบุหรี่ เรื้อรัง
ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการชา ที่แขน ขา หรือ ใบหน้า ร่วมกันกับภาวะอ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งหากเข้ารับการตรวจไม่ทันการณ์ อาจเกิดอันตรายถึงขั้นอัมพาต พิการ หรือเสียชีวิตได้
อ่อนแรงแบบไหน ชาอย่างไร ควรไปหาหมอทันที?
อาการชา และ อาการอ่อนแรงที่ ควรสังเกต และควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่
- อาการอ่อนแรงขึ้นมาทันทีทันใด ที่ขา แขน หรือ ข้างใดข้างหนึ่งฉับพลัน
- อาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ที่ขา แขน หรือ ใบหน้า โดยเป็นขึ้นมาอย่างฉับพลัน
- อาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ร่วมกับอาการอ่อนแรงในส่วนที่ชา โดยเป็นขึ้นมาอย่างฉับพลัน
- อาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ร่วมกับอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
- อาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ร่วมกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ร่วมกับอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก
ลักษณะของอาการชา และ อ่อนแรงข้างต้น นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า เป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยเพื่อทางแนวทางในการรักษาโดยด่วน
ชาข้างหนึ่งข้างใดทันที มีแนวทางการวินิจฉัยอย่างไร?
การวินิจฉัยสำหรับสาเหตุหลักของอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที นั้น นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายว่า ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยก่อนว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติส่วนไหนของระบบสั่งการ โดยพิจารณาจากอาการและสาเหตุก่อโรคต่างๆ เช่น
- ความฉับพลันของการเกิดอาการ ซึ่งหากเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด รวดเร็ว อาจบ่งชี้ได้ว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดทางสมอง อาทิ หลอดเลือดสมองตีบ แตก และ อุดตัน
- มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน อาจเป็นได้ทั้งโรคหลอดเลือดทางสมอง หรือ อาจเกิดจากการมีเนื้องอก หรือ ก้อนฝีในสมอง ก็ได้
- หากมีลักษณะของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนำมา และค่อยทวีความรุนแรงเรื่อยๆ อาจเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ทั้งนี้ ในการตรวจวินิจฉัย นอกจากการวินิจฉัยผ่านอาการแสดงเพื่อหาสาเหตุก่อโรคแล้ว แพทย์ก็ยังจำเป็นต้องทำการ ซักประวัติผู้ป่วย จากญาติ ในรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- สอบถามถึงประวัติครอบครัว เพื่อหาว่าคนในครอบครัวเคยมีลักษณะอาการเช่นนี้หรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
- สอบถามถึงประวัติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทั้งในอดีต หรือ เหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อหาความสัมพันธ์กับอาการป่วย
- สอบถามถึงประวัติผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมการใช้ยาอะไรที่ส่งผลต่ออาการป่วยหรือไม่
นอกจากนั้นแล้ว แพทย์ยังอาจส่งผู้ป่วยเข้าตรวจเพิ่มเติม อื่นๆ อีก เพื่อ ให้ได้ผลการตรวจที่ชัดเจน ตรงจุด ดังนี้
- เอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT-Scan)
- ส่งเข้ากระบวนการ MRI
- ตรวจเลือด
- การตัดชิ้นเนื้อ ในกรณีสงสัย ว่าอาจเกิดจากโรคมะเร็ง
แนวทางการรักษา ชาด้านหนึ่งด้านใดทันที ทำได้อย่างไร?
สำหรับการรักษานั้น แพทย์จำเป็นจะต้องทราบสาเหตุที่มาของอาการให้ได้เสียก่อนว่า เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็วางแนวทางการรักษาไปตามสาเหตุนั้นๆ เช่น หากอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที เกิดจากภาวะความผิดปกติของโรคหลอดเลือดทางสมอง แพทย์ก็อาจใช้การรักษาด้วยวิธีการต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น ให้ยาสลายลิ่มเลือด หรือ ทำการลากก้อนลิ่มเลือด เป็นต้น
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากอาการชาข้างใดข้างหนึ่งทันที?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายว่า การดูแลตัวเอง ถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราปลอดภัยจากอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที ที่แฝงมากับโรคร้ายที่เราอาจคาดไม่ถึง เพราะหากเราปล่อยให้ตัวเองเกิดอาการชาขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะยิ่งปล่อยให้เป็นบ่อยๆ ต่อเนื่อง การรักษาจะยิ่งยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญคือ ความเสี่ยง และโอกาสที่เราจะเป็นโรคร้ายแรงก็ย่อมมีตามมามากขึ้นด้วย ทั้งนี้ การดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันที นั้น สามารถทำได้โดยการ ลดปัจจัยเสี่ยงก่อโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักตนเอง ไม่ให้อ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดทางสมอง ที่อาจทำให้มีอาการชาข้างหนึ่งข้างใดทันทีได้
- ดูแลตัวเองในทุกย่างก้าว เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาดถูกสุขลักษณะ
ทั้งนี้ เราควรหมั่นครวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ร่างกายของเราแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ และที่สำคัญคือ จะทำให้เรารู้เท่าทันความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งมีผลดีคือ สามารถทำให้เรารักษาได้เร็ว ทันเวลา พบสาเหตุโรคได้ตรงจุด อันจะช่วยลดความเสี่ยงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ แม่กระทั่งเสียชีวิต