"แขนขาอ่อนแรง" อาการแสดง "โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน"
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความพิการ และ ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะโรคนี้ ซึ่งแนวทางเดียวที่จะทำให้เราปลอดภัยก็คือ การเฝ้าสังเกตอาการ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกอย่างที่จะทำให้เราถูกคุกคามจากโรคได้ ทั้งนี้ หนึ่งในอาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือนจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตันได้แก่ "แขนขาอ่อนแรง" ซึ่งถือว่าเป็นอาการอันตราย ที่อาจทำให้เราเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้ด้วย
แขนขาอ่อนแรง คืออะไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงภาวะแขนขาอ่อนแรง ว่า เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ กลืนลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการแขนขาอ่อนแรง มักจะเริ่มต้นจากบริเวณมือ แขน ขา หรือ เท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน โดยอาจจะเป็นการแสดงอาการในลักษณะต่างๆ เช่น ยกแขนไม่ขึ้น กำมือไม่ได้ หยิบจับของอะไรแล้วหล่นง่าย เป็นต้น จากนั้น หากมีอาการที่หนักหรือรุนแรงขึ้น ก็จะเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยอาจเป็นไปในลักษณะของการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือ ทั้งตัว ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า มีความผิดปกติของโรคที่อยู่ในระดับอันตรายแล้ว
แขนขาอ่อนแรง อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง
แขนขาอ่อนแรง เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกและไปเบียดทับเนื้อสมอง โดยโรคนี้ถือว่าร้ายแรงเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสทำให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต (แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก) ทำให้มีปัญหาทางด้านความคิด สูญเสียความจำ มีปัญหาทางด้านการพูด และมีอารมณ์แปรปรวน ได้
ภาวะสมองขาดเลือดที่มีเนื้อสมองตาย เกิดจากการขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หลอดเลือดแดงบริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงบริเวณสมองเกิดการอุดตัน ภาวะสมองขาดเลือด ส่วนใหญ่จะเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) หรือหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คือ เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแตก ทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อสมอง โดย นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงอาการแรกเริ่ม คือ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ จนลุกลามไปจนถึง แขนขาอ่อนแรงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก และขั้นที่รุนแรงมาก คือ อาจเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic stroke) ถือว่ามีอัตราการป่วยสูงที่สุดในกลุ่มของโรคหลอดเลือดสมอง และมีความเสี่ยงที่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะลุกลามจนก่อให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดสมอง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราทุกคนควรที่จะใส่ใจและหมั่นสังเกตอาการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายนี้
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดได้อย่างไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงสาเหตุของภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ว่า เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงเกิดภาวะแข็งตัว โดยมีปัจจัยหลัก คือ โรคความดันโลหิตสูง และปัจจัยรอง คือ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือด และการสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งในเวลาที่กำลังออกกำลังกายหรือพักผ่อนนอนหลับ ภาวะของหลอดเลือดตีบตัน จะเกิดขึ้นที่เส้นเลือดฝอยในสมองส่วนลึก โดยผนังหลอดเลือดจะเกิดภาวะแข็งตัว ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น และแคบลงจนตีบตัน มีการตีบของเส้นเลือด โดยมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านในของหลอดเลือดสมอง มีลิ่มเลือดแข็งตัวขนาดเล็กเกาะที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจ หลุดลอยไปตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว
เกิดจากมีการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตัน เกิดจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดซึ่งแข็งตัวเร็วเกินไป โดยที่เลือดขาดสารบางอย่าง หรือมีเม็ดเลือดแดง หรือเกร็ดเลือดมากเกินไป
อาการแสดงโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน สังเกตให้ทัน ป้องกันอันตราย
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ว่า จะแตกต่างกับโรคหลอดเลือดสมองประเภทอื่นๆ โดยจะสามารถสังเกตได้ คือ
แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
ชา ตาม มือ เท้า แขน ขา
มีอาการพร่ามัวที่ตา มองเห็นภาพซ้อน
หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยครึ่งซีก
พูดลำบาก กลืนลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ
ปวดศีรษะรุนแรง
ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจจะแสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน แต่จะเป็นไปในลักษณะของการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันทีทันใด โดยถ้าผู้ป่วยกลับคืนมาปกติใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า TIA (Transient Ischemic Attack) หรือ Mini stroke ถ้าพบอาการแขนขาอ่อนแรงเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน
วินิจฉัยอย่างไร จึงแน่ใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง?
การจะทราบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เป็นที่จุดใด ความรุนแรงเพียงใดนั้น ควรทำการตรวจโดยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ให้ผลละเอียดและมีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI และ MRA) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Doppler : TCD) และ การตรวจหลอดเลือดคอ เป็นต้น ซึ่งผลที่แม่นยำและละเอียดพอจะสามารถช่วยทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รักษาอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงแนวทางในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูอาการต่อไป หากเกิน 3 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด เช่น รักษาโดยการให้ยาบางประเภท เพื่อให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด โดยระยะแรกๆ ควรจะดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตันอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อน บำบัดรักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ปอดบวม กลืนลำบาก เป็นต้น ใช้กายภาพบำบัดในรายที่เป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่ง ยืน เดิน การฝึกกลืน ฯลฯ ในรายที่ซึมเศร้า เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต มักจะให้การรักษาโดยใช้จิตบำบัดร่วมด้วย
ทั้งนี้ วิธีที่ใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน จะขึ้นอยู่กับอาการเป็นสำคัญ โดย มี แนวทางในการรักษา 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้
ให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยให้ยาละลายลิ่มเลือด tissue plasminogen activator (TPA) เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ อาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จะดีขึ้น สามารถลดอัตราความพิการ แขนขาอ่อนแรงของผู้ป่วยได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับยา TPA ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผล CT Scan พบว่าไม่มีภาวะเลือดออกหรือเนื้อสมองตาย ระยะเวลาให้ยา TPA ไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ เพราะเซลล์สมองขาดออกซิเจนนานเกินไป จะทำให้เซลล์สมองตายไม่ฟื้น ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น มีภาวะเส้นเลือดสมองโป่งพอง มีภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน ค่าความแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ง่าย ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ฉะนั้นเมื่อมีอาการแขนขาอ่อนแรงผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์ต้องพิจารณาซักประวัติตรวจร่างกาย ผลเลือด ผลเอกซเรย์ ดูยาที่ผู้ป่วยรับประทานประจำ และพิจารณาข้อห้ามต่างๆ ประกอบการตัดสินใจในการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
ใช้ขดลวดสอดในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ที่มาโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง สามารถเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในสมองโดยการฉีดสารทึบรังสี เข้าไปที่หลอดเลือดเพื่อให้สามารถทราบตำแหน่งที่อุดตันได้ชัดเจนและใส่สายสวนเล็กๆ ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ปลายสายมีขดลวดเล็กๆ สำหรับคล้องเกี่ยวเอาลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้หลอดเลือดเปิดเลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น (ใช้เวลาในการทำ 1 ? 5 ชั่วโมง) ความยากง่ายของการทำขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดและลิ่มเลือด ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นทันทีหลังทำ บางรายแขนขาอ่อนแรงขยับแขนขาไมได้ วันรุ่งขึ้นสามารถเดินได้
การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผ่าตัด กรณีที่สมองบวมจนกดเบียดเนื้อสมองที่ดี หรือเบียดก้านสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลง หมดสติ หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิต เป้าหมายของการผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะและป้องกันสมองส่วนที่ดีอื่นๆ โดนทำลายเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต
อย่างไรก็ดี การหมั่นสังเกตอาการก็เป็นแนวทางที่ดีกว่าการรักษาเสมอ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้แนะนำถึงแนวทางปฏิบัติตนเพื่อให้ห่างไกลจากความเสี่ยงโรคสมองหลอดเลือดตีบตัน ดังนี้
งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว คลอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง เนย ครีม เครื่องในสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำหวาน ขนมหวาน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารทอดทุกชนิด หลีกเลี่ยงอาหารที่รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก ลองกอง กล้วยสุก เป็นต้น
รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย ผัก ผลไม้ที่ไม่มีรสหวานมาก (ส้ม ฝรั่ง แคนตาลูป แอปเปิล มะละกอสุก เป็นต้น) ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน น้ำมันพืช
รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ อาหารประเภทธัญพืช จะช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลในลำไส้เล็ก รวมทั้งจับกับน้ำดีและขับออกไปกับอุจจาระ ทำให้ร่างกายต้องนำ
คลอเลสเตอรอลมาสร้างเป็นน้ำดีเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และป้องกันภาวะท้องผูกได้ดีอีกด้วย
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเกินไปหรือผ่านกระบวนการปรุงด้วยเกลือ เช่น อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง หรืออาหารกระป๋อง เป็นต้น
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด และควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง
ความประมาทในการใช้ชีวิตของคนเราที่มีความเชื่อมั่นในสุขภาพร่างกายของตนเองเกินไป ใช้งานร่างกายอย่างหนัก ละเลยการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งไม่ได้ฉุกคิดว่าวันหนึ่งร่างกายย่อมมีความเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนอะไหล่ที่ไม่ได้รับการขัดถูดูแล ย่อมเสื่อมสภาพและชำรุดในที่สุด ร่างกายก็เช่นเดียวกันเมื่อโรคร้ายมาเยือนจนต้องรับการรักษาอันยืดเยื้อแสนทรมาน เมื่อตระหนักได้ถึงอันตรายที่พร้อมมาเยือนร่างกายของเราทุกเมื่อ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต โดยการลด "ปัจจัยความเสี่ยงจากพฤติกรรมการดำรงชีวิต" ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นกับตนเอง
โดยเฉพาะหากมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรืออาการอื่นๆ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว นั่นคือสัญญาณอันตรายที่รุนแรงแล้ว ต้องรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีเซลล์สมองจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ และนั่นคืออัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ยากที่จะกู้กลับคืน ยิ่งมาพบแพทย์เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่สมองจะหยุดถูกทำลายก็เร็วขึ้นเท่านั้น หากท่านหรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยงด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน ท่านสามารถโทร. 1772 สอบถามถึงบริการรถฉุกเฉิน เพื่อลงบันทึกพิกัดบ้าน หรือสถานที่ทำงานไว้ล่วงหน้า หากเกิดอาการหรือภาวะฉุกเฉินโดยไม่คาดคิดเมื่อไหร่ก็ตาม เพียงท่านโทร.มา และแจ้งชื่อ นามสกุล และสถานที่ที่ลงบันทึกไว้ รถฉุกเฉินพร้อมหมอหรือพยาบาลกู้ชีพก็พร้อมที่จะไปถึงคุณในเวลาอันรวดเร็ว ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที