ไขมันในเส้นเลือดต้องตรวจดู ก่อนเสี่ยงสู่หลอดเลือดสมองตีบ ไขมันในเส้นเลือดสูง...อันตราย ปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือพิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สูงขึ้นทุกๆ ปี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคนี้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง การสูบบหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
หลอดเลือดสมองตีบ ตัน...เกี่ยวของกับไขมันในเส้นเลือดสูงอย่างไร ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงจะไม่มีอาการเตือน ทำให้เราไม่รู้ตัวว่าโรคร้ายกำลังก่อตัวขึ้นในร่างกายเรา จนกระทั่งหลอดเลือดเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการของโรคของหลอดเลือดสมอง
อาการมองเห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก สับสน ซึมลง หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ เพราะเป็นอันตรายที่รุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ไขมันในเส้นเลือดสูง ทำร้ายหลอดเลือดอย่างไร ไขมันในเส้นเลือดสูงทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เมื่อไขมันเกาะสะสมหนาที่ผนังหลอดเลือดเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นต้นเหตุของการตีบ ตัน ส่งผลให้สมองขาดเลือด ทำให้เนื้อสมองถูกทำลายจึงทำให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าว
ไขมันในเส้นเลือดสูงได้อย่างไร ไขมันในร่างกายได้มาจากการบริโภคเข้าไป และร่างกายผลิตขึ้นเองส่วนหนึ่ง โรคไขมันในเส้นเลือดสูงเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลจากตับ ร่างกายใช้คอเลสเตอรอลบาง ส่วนนำไปสร้างน้ำดี เพื่อช่วยย่อยไขมันและสร้างฮอร์โมนเพศ ค่าปกติของ คอเลสตอรอลรวม(Total Cholesterol) ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คอเลสเตอรอล แบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด คือ คอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ถ้ามีในระดับสูงเกินไปจะไปสะสมที่ด้านในของผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวจนสูญเสียความยืดหยุ่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด ตีบ หรืออุดตัน ค่าระดับปกติของแอลดีแอลไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเนื้อเยื่อต่างๆ และจากผนังหลอดเลือดไปทำลายที่ตับ HDL สูงได้จากการออกกำลังกาย ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลชนิดนี้สูงจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว ระดับปกติในเลือดของผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับปกติในผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิลิตร/เดซิลิตร ไตรกลีเซอร์ไรด์(Triglyceride) เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ได้จากอาหารที่รับประทาน และร่างกายสร้างขึ้นเองโดยตับจะทำหน้าที่สังเคราะห์มาจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และโปรตีนที่เหลือใช้ และเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นพลังงานสำรอง ไขมันชนิดนี้ควรมีในเลือดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ค่าปกติ50-150 mg/dl) สาเหตุของภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง
- จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ที่ให้พลังงานมากเกินไป - ขาดการออกกำลังกาย - ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ - กรรมพันธุ์ - จากโรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคไต โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน - ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด
ไขมันในเส้นเลือด จะตรวจได้อย่างไร ตรวจโดยการเจาะเลือดหาค่า ของ Cholesterol,Triglyceride, HDL-C, LDL-C การเตรียมตัวตรวจ ถ้าหากตรวจเฉพาะ Cholesterol ไม่ต้องงดอาหาร แต่ถ้าหากตรวจ Triglyceride จะต้องงดอาหารก่อนตรวจ 10-12 ชั่วโมง
ใครควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเส้นเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจประเมินระดับไขมันในเส้นเลือด ได้แก่ - ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย - ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด ได้แก่ มีประวัติครอบครัวคือ พี่ น้อง หรือพ่อแม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือตนเองเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ โรคอ้วน น้ำหนักเกิน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25) ส่วนผู้ที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคไต ควรได้รับการตรวจคัดกรองเช่นกัน
เมื่อตรวจพบว่าไขมันในเส้นเลือดสูงต้องทำอย่างไร การรักษาโดยไม่ใช้ยา สำหรับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงไม่มาก แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว โดยไม่ต้องรับประทานยา และนัดตรวจระดับไขมันในเส้นเลือดเป็นระยะ คำแนะนำโดยทั่วไปมีดังนี้
- การควบคุมอาหาร ผู้ป่วยที่มีระดับไขมัน LDL สูงจะต้องหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ซึ่งพบในอาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว เนยเทียม ครีมเทียม และหลีกเลี่ยงกรดไขมันอิ่มตัว มักเป็นไขมันจากสัตว์ อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงพบมากในอาหารผัด ทอด ที่ใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม เนย หรือน้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น ตลอดจนลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน กุ้ง หอย ปลาหมึก เป็นต้น - ผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงต้องลดอาหารประเภทแป้งขัดสี เช่น ขนมปังชนิดต่างๆ รวมถึงปาท่องโก๋ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สปาเก็ตตี้ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น และลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง ได้แก่เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำอัดลม ขนมที่มีรสหวาน เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ผลไม้รสหวาน เช่นทุเรียน เงาะ รวมทั้งงดแอลกอฮอล์ - การออกกำลังกายจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซออไรด์ได้ และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL ที่สำคัญคือการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจได้ - การลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินต้องลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL ได้ - งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไขมันในเส้นเลือด การรักษาไขมันในเส้นเลือดด้วยยา - มียาอยู่หลายชนิด ได้แก่ ยาที่ลดการผลิตไขมันจากตับ ยาที่ช่วยลดการดูดซึมไขมันจากลำไส้ เป็นต้น แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะการใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นกับขนาดของยาที่เหมาะสม และอาจเกิดผลข้างเคียงของยาหากใช้ไม่ถูกต้อง - หากมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย แพทย์จะรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป ผู้ป่วยควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ - ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยา จะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย งดบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ และพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา
การป้องกันไขมันในเส้นเลือดสูง...ก่อนที่โรคร้ายจะถามหา ไขมันในเส้นเลือดสูงเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรา สามารถบุกจู่โจมทำร้ายเราได้ทุกเมื่อหากเราไม่ใส่ใจสุขภาพ ฉะนั้นควรดูแลสุขภาพ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน หลีกเลี่ยงไขมัน แป้ง และน้ำตาล ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถูกสุขลักษณะแล้วก็จะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าตัวเราเองมีระดับไขมันสูงหรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจ เพื่อเป็นการป้องกัน และเริ่มรักษาหากไขมันในเส้นเลือดสูงเกินไป เพื่อรักษาสุขภาพให้ดี มีชีวิตที่ยืนยาว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ |