การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้สดใสเบิกบานเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคก็เป็นสิ่งต้องเอาใจใส่ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากครอบครัวและตัวผู้ป่วยเอง
แนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพและการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความผิดปกติทางร่างกายในเรื่องของการรับรู้และสภาพจิตใจ ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่พบโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ชาด้านใดด้านหนึ่งทำให้ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ การสื่อสารบกพร่อง เช่น การฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการพัฒนาและแก้ไขข้อบกพร่องโดยการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายไปพร้อมๆ กับการปรับสภาพจิตใจของผู้ป่วย โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- พูดคุยกับผู้ป่วยบ่อยๆ เช่น เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ชวนคุยเรื่องข่าวสาร เรื่องบันเทิงใจ หากผู้ป่วยพูดไม่ได้หรือพูดผิดพูดไม่ชัด ผู้ดูแลจะเป็นคนที่ช่วยให้พูดถูก และควรรอฟังอย่างใจเย็น อย่าเร่งให้ผู้ป่วยพูด และอย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอายเมื่อพูดผิด - ให้ความรัก ครอบครัวควรให้ความรักความเข้าใจ และให้กำลังใจ เช่น ชมเชยผู้ป่วยทุกครั้งเมื่อสามารถฟื้นฟูร่างกายได้ หรือผู้ป่วยมีอารมณ์เบิกบาน นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนยังเป็นที่รักแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจต่อสู้กับโรค และเกิดความรู้สึกกับตนเองในทางบวก - กระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายซีกที่อ่อนแรง ในระยะแรกของโรค การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผู้ป่วยมักจะมีอาการอัมพาตครึ่งซีกจนผู้ป่วยขาดความสนใจในร่างกายซีกนั้น นอกจากให้แพทย์รักษาแล้ว ผู้ดูแลอาจจะต้องเรียนรู้เทคนิคด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูเบื้องต้นจากผู้รู้ และแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าการใส่ใจดูแลร่างกายซีกที่อ่อนแรงเป็นพิเศษจะทำให้การฟื้นฟูได้ผลดียิ่งขึ้น - ระมัดระวังอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดกับผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ดูแลไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพังแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้ว การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจ รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยมากขึ้น - ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมด้วยตนเอง โดยควรเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เช่น แปรงฟัน หวีผม ตักอาหาร หรือลุกนั่งเอง ซึ่งผู้ดูแลเพียงแค่คอยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด และเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสมเท่านั้น อย่าเคี่ยวเข็ญหรือตำหนิผู้ป่วยหากทำได้ไม่ดี ควรรออย่างใจเย็น ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆ จนเสร็จด้วยตัวเองและกล่าวชื่นชม การป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ การป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองมีหลายแขนงที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทำให้อาจเกิดอาการหรือความผิดปกติในหลอดเลือดในจุดอื่นได้ แม้อาการที่เคยเป็นจะดีขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรละเลยการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้
การรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ - ยาสำหรับควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาโรคหัวใจ ยาลดไขมันในเส้นเลือด และยารักษาโรคเบาหวาน - ยาสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยการรักษาสุขภาพ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือการบริหารกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง - ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากผู้ป่วยไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้สะดวก ควรให้ทานอาหารอ่อนๆ ทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูงแต่ไม่หวานเกินไป อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ขัดสี เพราะกากใยอาหารจะช่วยควบคุมการดูดซึมน้ำตาลได้ ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภททอด และอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด เป็นต้น - ฝึกให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียด เช่น ฝึกกำหนดลมหายใจ การทำสมาธิ มีสติ ไม่คิดฟุ้งซ่าน - พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่มักประสบปัญหานอนไม่หลับ จึงควรฝึกการนอนให้เป็นเวลา และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับ เช่น มีอากาศถ่ายเท ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป ไม่มีแสงสว่างหรือเสียงดังรบกวน - เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งหรือพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาฟื้นฟูที่โรงพยาบาลโดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดจนดีขึ้นแล้ว ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำกลับไปปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน และเมื่อถึงเวลานัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพหรือทำกายภาพบำบัด ทางโรงพยาบาลพญาไท ยังมีโปรแกรมฟื้นฟูการเคลื่อนไหวด้วยหุ่นยนต์อัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ นับว่าเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟื้นฟูร่างกายได้ดีขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ |