ปวดหัวบ่อยอย่าวางใจ...สมองตายกายพิการ ปวดหัวเป็นอาการที่แทบจะไม่มีใครไม่เคยเป็น ผู้ที่มีอาการปวดหัวบ่อยอาจจะกังวลใจว่าจะเป็นโรคร้ายแรง แต่เราพบว่า อาการปวดหัวส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เกิดจากโรคร้าย จะมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อาการปวดหัวเกิดจากความผิดปกติของสมองจริงๆ เช่น เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ ตัน แตก ติดเชื้อในสมอง เป็นต้น อาการปวดหัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ชนิดที่เกิดขึ้นเอง และชนิดที่เกิดจากความผิดปกติทางกาย
อาการปวดหัวชนิดที่เกิดขึ้นเอง การที่จะรู้ว่าการปวดศีรษะขนาดไหนเป็นการปวดศีรษะแบบธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นได้เอง ไม่ร้ายแรง หรือปวดศีรษะขนาดไหนเป็นการปวดที่ผิดปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง มีข้อสังเกตได้ไม่ยาก ปวดศีรษะชนิดไม่ร้ายแรงที่พบบ่อยในคนวัยทำงานคือ ปวดศีรษะจากความเครียดหรือกล้ามเนื้อตึงตัว (tension-type headache) มักมีอาการปวดหัวบ่อยแบบตึงๆ รัดๆ บริเวณขมับ หน้าผาก ท้ายทอย และปวดศีรษะไมเกรน (migraine) ซึ่งมักมีอาการปวดตุ้บๆ ครึ่งซีก แถวขมับ เบ้าตา ด้านข้างศีรษะหรือท้ายทอย บางคนมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
สาเหตุ ของการปวดศีรษะจากความเครียด จริงๆ แล้วยังไม่ทราบชัดเจน แต่มักมีสิ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะ เช่น ความเครียด การอดนอน แสงสว่างที่โต๊ะทำงานไม่พอ เป็นต้น ส่วนปวดศีรษะไมเกรน อาการมักจะสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การพักผ่อนไม่พอ อ่อนเพลีย อากาศร้อน ควันบุหรี่ จากอาหารบางชนิด ลักษณะของการปวดศีรษะจากความเครียดและไมเกรนมักเป็นๆ หายๆ ปวดหัวบ่อยๆ
การรักษา โรคปวดศีรษะแบบนี้ไม่อันตราย แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติของระบบประสาท แต่ก็กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สุขสบาย อาจต้องลางานบ่อยๆ อาการลักษณะนี้แพทย์จะรักษาด้วยยาแก้ปวด บางรายอาจต้องนวด ทำกายภาพบำบัด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความเครียด และการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ปรับสิ่งแวดล้อมที่ทำงาน ที่บ้าน
ข้อแนะนำ ถึงแม้จะไม่ก่อให้เกิดความพิการ ไม่มีผลกระทบทางร่างกาย แต่รักษาก็ไม่หายขาด บางรายอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยามีผลข้างเคียง เมื่อใช้ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตราย การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอเพื่อการปรับยาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะก่อให้เกิดอาการปวดหัวบ่อย
ไม่อยากปวดศีรษะไมเกรน รับประทานยาป้องกันไว้ก่อนได้ไหม ในผู้ป่วยที่ปวดศีรษะไมเกรนบ่อยๆ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการ แต่ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน (Ergotamine) ควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดหัวบ่อย ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวัน ไม่ใช่ยาสำหรับป้องกันอาการปวดศีรษะ หากใช้ติดต่อกันนานเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงของยา ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองแตก ฉะนั้นหากท่านมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
อาการปวดหัวที่เกิดจากความผิดปกติทางกาย อาการปวดศีรษะกลุ่มนี้เกิดจากโรคหรือภาวะอื่นที่ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุที่ศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องโดยด่วน มิฉะนั้นอาจเกิดความพิการ อัมพาต หรือเสียชีวิต
สังเกตอาการปวดหัวชนิดอันตรายได้อย่างไร หากมีอาการปวดหัวบ่อยร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคสำคัญ ดังนั้นคุณควรพบและปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียด ลักษณะอาการปวดหัวที่เป็นสัญญาณอันตราย มีดังนี้
- ปวดหัวร่วมกับมีไข้ คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน - ปวดหัวบ่อยอยู่ประจำ แต่ครั้งนี้ปวดมากกว่าทุกครั้ง - ไม่เคยปวดหัวมาก่อน อยู่ๆ ก็มาปวดหัวมาก - ปวดหัวและมีอาการหลงลืมที่ผิดปกติจากเดิม - ปวดหัวร่วมกับมีอาการทางสายตาด้วย เช่น ตาพร่ามัว ตามองไม่เห็น - ปวดหัวร่วมกับง่วงนอนหรือซึม มึนงงผิดสังเกต - ปวดหัวร่วมกับปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปวดหัวบ่อย สมองตายกายพิการ...โรคหลอดเลือดสมอง
ปวดหัวฉับพลันรุนแรงไม่ควรนิ่งนอนใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดหัวรุนแรงขึ้นมาทันทีทันใดแบบไม่เคยปวดมาก่อน ซึ่งอาจพบอาการผิดปกติอย่างฉับพลันอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท พูดไม่ออก พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงและชาครึ่งซีก เดินเซ ตาพร่ามัว ตามองไม่เห็น สับสน ซึมลง บางรายอาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาการขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย บางรายมีเลือดออกบริเวณก้านสมอง อาจหมดสติและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวควรโทร.Call center 1772 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือไปโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจนและรักษาอย่าง ถูกต้องทันเวลา หากล่าช้าอาจเสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากภาวะสมองตาย
ปวดหัว...โรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะมีแนวทางวินิจฉัย ดังนี้ - การซักประวัติ อาการปวดศีรษะ และอาการทางระบบประสาท เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง สับสน และระยะเวลาที่เริ่มมีอาการผิดปกติ ซักประวัติโรคประจำตัวและการรักษา เพื่อหาความเสี่ยงหรือสาเหตุของการปวดหัวบ่อย การเกิดโรคประกอบการวินิจฉัย - การตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจเต้น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจชีพจร การตรวจความดันโลหิต การตรวจการไหลเวียนเลือด การตรวจระบบประสาท เป็นต้น - การตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมอง หรือหาสาเหตุของหลอดเลือดตีบด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ทำให้เห็นบริเวณที่เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกจากภาพเอกซเรย์ หรือการถ่ายภาพสมองโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนและเห็นบริเวณสมองที่ขาดเลือดในระยะแรกๆ - การเจาะเลือดตรวจหาค่าความผิดปกติต่างๆ เพื่อ หาสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการรักษา เช่น CBC ดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) สามารถบอกเรื่องการติดเชื้อในร่างกาย ดูภาวะการแข็งตัวของเลือด ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น ESR ดูอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง บอกการอักเสบของร่างกายและของหลอดเลือด หากมีการอักเสบ ร่างกายจะหลั่งสารชนิดหนึ่งขึ้นมา สารนี้จะเกาะเม็ดเลือดแดงทำให้ตกตะกอนเร็วขึ้น - ดูค่าไต ตรวจสาร Creatinine, Urea เป็นของเสียที่ถูกขับออกทางไต แต่หากไตเสื่อมทำให้สารนี้คั่งในร่างกายจึงตรวจพบว่ามีระดับที่สูงกว่าปกติ - ตรวจไขมัน น้ำตาล เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง การรักษา มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหลอดเลือดสมองว่าตีบ แตก หรือโป่งพอง อาการรุนแรงแค่ไหน มาถึงโรงพยาบาลได้เร็วเพียงใดนับตั้งแต่เริ่มเกิดอาการผิดปกติ ดังนี้
- การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจะรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดแต่ต้องให้ยาภายใน 3-4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีอาการ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมาช้ากว่านี้การให้ยานี้จะไม่ได้ผล เนื่องจากเซลล์สมองตายการให้ยาละลายลิ่มเลือดไม่ช่วยให้สมองฟื้นตัว แต่อาจทำให้เลือดออกในสมอง จึงห้ามใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันขนาดใหญ่ หากสมองบวมมากต้องผ่าตัดเพื่อลดการกดเบียดของเนื้อสมอง - การรักษาโรคหลอดเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของก้อนเลือดที่ออกมา หากตรวจวินิจฉัยพบว่ามีก้อนเลือดขนาดใหญ่กดเบียดเนื้อสมองและผู้ป่วยมีอาการซึมลง ปวดหัวบ่อย แพทย์อาจต้องให้การรักษาโดยการผ่าตัด ให้ยาลดความดันในกะโหลกศีรษะ ให้ยาป้องกันเลือดออกเพิ่ม - หากตรวจพบว่ามีหลอดเลือดสมองโป่งพอง สามารถรักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัด หนีบหลอดเลือดที่โป่งพอง การใส่ขดลวดเล็กๆ ในบริเวณที่โป่งพอง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกแนวการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย - พร้อมกันนี้ยังต้องรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ต้องควบคุมโรคประจำตัวของผู้ป่วยไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตกซ้ำ และทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายในรายที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พิการเป็นอัมพาตจะหายได้หรือไม่
ผู้ป่วยอัมพาตและญาติมักจะถามคำถามนี้เสมอว่าจะรักษาหายหรือไม่ โอกาสหายจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
- ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอก ก้อนเลือด การขาดเลือดมาเลี้ยงสมอง หากเป็นบริเวณก้านสมองการพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี - การมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมได้รวดเร็วเพียงใดเพราะหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันเวลาจะสามารถลดการเสียหายต่อเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองมีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวและมีโอกาสหายได้มากขึ้น - การฟื้นฟูร่างกาย หลังโรคหลอดเลือดสมอง ร่างกายมักจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นบางส่วนหรือทั้งหมดภายใน 6 เดือน การออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ร่างกายส่วนที่ดีนั้นทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ช่วยชดเชยกล้ามเนื้อส่วนที่สูญเสียหน้าที่ไป และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง...ต้องเริ่มดูแลสุขภาพ
การดูแลสุขภาพที่ดี ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนคลายเครียดเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงมลพิษ เมื่อมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองต้องดูแลรักษาให้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจสุขภาพประจำปีทำให้ทราบว่าตัวเราเองมีปัจจัยเสี่ยงของโรคร้ายหรือไม่ เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจไขมันในเลือด เมื่อพบความผิดปกติควรเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การดำเนินของโรคช้าลง หรือกลับมามีสุขภาพสมบูรณ์ปกติ หากได้รับการรักษาและมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อลดเสี่ยงเลี่ยงโรคต้องรีบตรวจ ก่อนจะปวดหัวบ่อย เพราะภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ |