โรคความดันโลหิตสูง ภัยร้ายทำลายสมอง ชีวิตของผู้คนในสมัยนี้ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายที่ชวนเครียดตลอดเวลา เป็นการสร้างความบั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจให้ถดถอยลง ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในร่างกายสูงตามไปด้วย ความดันโลหิต (Blood Pressure) หมายถึง ความดันหรือแรงดันภายในหลอดเลือดแดงที่กระทำต่อผนังภายในหลอดเลือดขณะส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยจะเป็นตัวบอกถึงความแรงของการสูบฉีดเลือดและความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด ซึ่งโดยปกติแล้วค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 120/80 มม.ปรอท หากเกินกว่านี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ค่าความดันโลหิตหากสังเกตเวลาไปตรวจวัดความดันที่โรงพยาบาลจะมีผลที่แสดงออกมาเป็น 2 ค่า คือ ค่าความดันโลหิตตัวบนที่มีตัวเลขสูงกว่ากับค่าความดันโลหิตตัวล่างที่มีตัวเลขน้อยกว่า มีความหมายดังนี้ 1. ความดันโลหิตตัวบน คือ ความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) ขณะที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายซึ่งจะมีค่าตัวเลขสูงกว่า 2. ความดันโลหิตตัวล่าง คือ ความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) จะมีค่าตัวเลขน้อยกว่า
โดยค่าความดันโลหิตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติต้องมีค่าความดันตัวบนไม่เกิน 139 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างต้องไม่เกิน 89 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 120/80 มม.ปรอท โรคความดันโลหิตสูงนับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยคาดว่ามีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยประมาณ 10 ล้านคน และโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย ภาวะความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ ทำให้หลอดเลือดภายในร่างกายค่อยๆ เสื่อมไป โดยเฉพาะ 3 อวัยวะสำคัญ คือ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งไต ซึ่งเมื่อมีการตีบหรือแตกของหลอดเลือดในอวัยวะสำคัญเหล่านี้จะทำให้เสียชีวิตได้แบบเฉียบพลัน หรือทำให้เป็นอัมพาตได้ ดังนั้น แม้ในคนปกติที่ไม่ได้มีอาการแสดงใดๆ ควรตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือปรับการปฏิบัติตัวแต่เนิ่นๆ จะทำให้หลอดเลือดไม่ผิดปกติเร็วเกินไปนัก สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วนั้น หากมิได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้
อาการของภาวะโรคความดันโลหิตสูง ภาวะโรคความดันโลหิตสูงมักจะไม่แสดงอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะอาการในระดับอ่อนหรือปานกลาง ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบและไม่ได้เข้ารับการรักษาดูแลอย่างเหมาะสม ภาวะดังกล่าวจะค่อยๆ ทำลายอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทีละน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และเมื่อโรคเริ่มรุนแรง ก็อาจนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากหลอดเลือดสมองแตก หรือเกิดโรคทำให้หัวใจโต ไตเสื่อมสภาพ โดยที่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว แต่หากผู้ป่วยได้รับการตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงจากการตระหนักถึงความสำคัญของผู้ป่วยเอง หรือจากการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยภาวะของโรคอื่น ก็มีโอกาสจะตรวจพบความเสี่ยงตั้งแต่ยังไม่มีอาการ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงอาการแสดงของภาวะโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง คือ มีระดับความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 180/110 มม.ปรอท ว่าอาจมีอาการเลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ มึนงง โดยที่อาการเหล่านี้อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นด้วย ทางที่ดีเมื่อพบว่ามีอาการ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป โรคความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากการสำรวจประชากรทั่วโลก คาดว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 25-30% เป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูงอาจเกิดขึ้นเองโดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาก หรือเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการเป็นโรคอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของไต เนื้องอกของต่อมไร้ท่อ ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่ การตีบของหลอดเลือดแดงบางเส้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่
1. อายุมากขึ้น 2. กรรมพันธุ์ 3. เชื้อชาติ เชื้อชาติผิวดำมีโอกาสเป็นมากกว่าเชื้อชาติผิวขาว 4. โรคอ้วน 5. ขาดการออกกำลังกาย 6. รับประทานอาหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะรสเค็ม 7. การดื่มแอลกอฮอล์จัด
แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการใดๆ แสดง การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยการตรวจวัดความดันโลหิตโดยใช้เครื่องมือเฉพาะ ซึ่งอาจทำเมื่อพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือตรวจนอกสถานที่ก็ได้ นอกจากนี้แพทย์จะสอบถามประวัติจากผู้ป่วยเรื่องอาการและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจร่างกายเพื่อประเมินสาเหตุและภาวะแทรกซ้อนของโรค ความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง รักษาให้หายได้ยาก แต่สามารถควบคุมได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และรับประทานยาอย่างครบถ้วนสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีการรักษา 2 แนวทาง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต แนวทางที่ 1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตที่สูงไม่มาก สามารถรักษาระดับความดันโลหิตสูงได้โดยไม่ต้องใช้ยาในการควบคุม คือ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น 1. การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วและผลไม้เปลือกแข็ง ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เนื้อไม่ติดมัน พร้อมทั้งจำกัดเกลือและไขมัน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน หรือการเติมน้ำตาลในอาหาร 2. การออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการออกกำลังกายที่ทำให้เหนื่อยปานกลาง วันละ 40 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง 3. ลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน 4. พักผ่อนให้เพียงพอและปรับการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพจิตที่สดชื่นแจ่มใส ลดภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด 5. จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ หรือยาเสพติด แนวทางที่ 2 รักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการใช้ยาในการควบคุมเพื่อลดระดับความดันโลหิต ในผู้ป่วยที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ หรือในคนที่ความดันโลหิตสูงมาก ควรใช้ยาเพื่อลดระดับความดันโลหิต โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะพิจารณาจากความรุนแรงของโรคในการเลือกชนิดของยาและขนาดของยา ซึ่งการรักษาโดยด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด กินยาอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต เข้าพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น มีเครื่องมือที่ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบระดับความดันโลหิตของตนเองได้ทุกเวลาที่ต้องการ หากพบว่ามีระดับสูงผิดปกติเมื่อไหร่ก็สามารถไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที เป็นการนำไปสู่การควบคุมระดับความดันโลหิตที่ดีขึ้น ตลอดจนลดปัญหาจากการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถควบคุมและดูแลอยู่ในระดับที่พอใจได้ และทุกคนสามารถป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
การป้องกันและการดูแลตัวเองไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่มักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เป็นการวิธีป้องกันที่สำคัญ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องประสบกับภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนกระทั่งพิการหรือเสียชีวิต โดยแนวทางการป้องกันเช่นเดียวกับพฤติกรรมสุขภาพที่แนะนำข้างต้นและควรรับการตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังโรค ดังนี้ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจวัดความดันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีประวัติครอบครัว เช่น บิดา มารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรมีการตรวจความดันโลหิตถี่ขึ้น หากพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และรับการรักษาโดยทันที ควรรักษาสุขภาพ และหากมีโรคประจำตัว ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดภาวะรุนแรง ดังนั้นภาวะความดันโลหิตสูงจึงจัดว่าเป็นภัยเงียบที่อาจแฝงมากับโรคอื่น และส่งผลร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวหรือกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นนอกจากการป้องกันและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะโรคความดันโลหิตสูงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ การเข้ารับการตรวจสุขภาพ และรับคำแนะนำเรื่องสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันและทำให้รู้เท่าทันในทุกๆ ความเสี่ยง โดยโรงพยาบาลพญาไท มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำ และมีแนวทางการรักษาหลายวิธี หากเข้ามารับคำแนะนำและรับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด จะช่วยให้สามารถป้องกันและรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ |