โรคหลอดเลือดสมอง แตก ตีบตัน โรคร้ายใกล้ตัวคุณ โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรไทย รวมทั้งก่อให้เกิดความพิการหรือเป็นภาระการดูแลของครอบครัว ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ คนทั่วไปอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญหรือรู้จักโรคเกี่ยวกับสมองมากนัก เห็นว่าเป็นโรคไกลตัว ซึ่งไม่จริงเลย โรคเกี่ยวกับสมองมีหลายอย่างหลายอาการ เพราะสมองของคนเราต้องทำงานอยู่ตลอดแม้กระทั่งเวลาหลับ สภาพแวดล้อม จิตใจ สภาวะรอบๆ ตัว ความเครียด เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงเกี่ยวกับสมองได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ ความเสี่ยง ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรค และมีความจำเป็นที่ต้องพบแพทย์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโรคเกี่ยวกับสมองและร่างกายของเราเป็นประจำ เพื่อจะได้รักษาหรือนำความรู้ที่ได้จากแพทย์มาปฏิบัติตนและปรับพฤติกรรมเสี่ยงให้ลดลง โรคหลอดเลือดสมอง แม้จะมักมีอาการแบบเฉียบพลัน เกิดขึ้นทันที่ทันใด แต่จริงๆ แล้วการดำเนินของตัวโรคก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยมักไม่มีอาการนำมาก่อนที่สามารถสังเกตได้ จึงมักกลายเป็นเรื่องที่สายเกินแก้ได้ทีเดียว
โรคหลอดเลือดสมองที่เราพบได้ แบ่งเป็นเส้นเลือดในสมองตีบตัน และ เส้นเลือดในสมองแตก สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้มีหลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น อายุที่มากขึ้น มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก และเส้นเลือดในสมองตีบมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้มักมีสาเหตุจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ 1. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ ช่องทางที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ 2. เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง 3. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ 1. ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตกได้มากกว่าคนปกติ 2. เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งทั่วร่างกาย และทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 3. โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้ 4. การสูบบุหรี่ สารเคมีในควันบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง และทำให้เลือดแข็งตัวง่าย พบว่าแค่พฤติกรรมการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น 5. ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองในลักษณะเดียวกัน 6. ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 7. การขาดการออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกาย ทำให้หัวใจอ่อนแอ การสูบฉีดโลหิตไม่มีประสิทธิภาพ
อาการแสดงของโรคเหล่านี้ที่เราควรทราบ อาการโดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบฉับพลันและเป็นทันที เช่น 1. มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยวหรือชาครึ่งซีก 2. พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษา พูดอ้อแอ้ไม่ชัด 3. ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น หรือมองเห็นครึ่งซีกของลานสายตา หรือเห็นภาพซ้อน 4. เวียนศีรษะ บ้านหมุนโคลงเคลง เดินเซคล้ายคนเมาเหล้า 5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับอาเจียนหรือหมดสติ ในบางรายอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายเองเป็นปกติ เช่น อาจมีอาการอ่อนแรงอยู่ประมาณ 30 นาทีแล้วดีขึ้นเป็นปกติ อย่าได้ทำเป็นนิ่งนอนใจ ไม่ไปพบแพทย์ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ดังนั้นหลังจากมีอาการแสดงเตือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาให้ยาป้องกันการเกิดโรคอย่างทันท่วงที เพราะอาการแสดงเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดทางสมอง อาจจะมีการอุดตัน หรือมาจากอาการของเส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือมาจากอาการของเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นกับตัวเราหรือบุคคลรอบข้างให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองที่มีหลอดเลือดผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น 1. การตรวจเลือด 2. การตรวจระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด 3. การตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด 4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ 5. การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 6. การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดบริเวณคอ เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง 7. การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อดูเนื้อสมอง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดที่คอ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและมีประสิทธิภาพสูง โปรแกรมตรวจสมองก่อนเป็นอัมพาต (Package Stroke Screening)
สถิติการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนไทยประมาณ 250 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งคำนวณได้ว่าน่าจะมีคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดสมองปีละ 150,000 ราย หรือคนไทยเป็นโรคนี้ 1 รายทุกๆ 4 นาที และเสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด |