การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองในโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว มักก่อให้เกิดความพิการที่เรียกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต หลังจากที่แพทย์ รักษาด้วยวิธีใช้ยา หรือการผ่าตัดสมอง ให้ผ่านพ้นระยะวิกฤติแล้ว ญาติและครอบครัวจะได้รับคำแนะนำการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองจากแพทย์ผู้รักษา จากทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากพยาบาล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความสำคัญของสมอง สมองเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของหัวใจระบบหายใจ หากมีความผิดปกติ สมองถูกทำลายจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติเรียกว่าพิการหรืออาจเสียชีวิตได้ ความผิดปกติที่ทำให้สมองถูกทำลายที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ เนื้องอกในสมอง ติดเชื้อในสมอง เป็นต้น
เหตุผลที่ต้องผ่าตัดสมอง ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สมองถูกห่อหุ้มด้วยกะโหลกศีรษะ เมื่อผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในสมอง หากก้อนเลือดมีขนาดใหญ่จะกดเบียดเนื้อสมอง ในบางรายก้อนเลือดไม่ใหญ่ แต่อยู่ในตำแหน่งที่ขัดขวางการไหลเวียนของน้ำในโพรงสมอง ทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลาย ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ อาเจียน ซึมลง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการถาวร ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก หรืออาจใส่ท่อเพื่อระบายน้ำในโพรงสมอง ลดความเสียหายต่อสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดความพิการ
กรณีเลือดออกในสมองก้อนไม่ใหญ่ และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะไม่ผ่าตัด แต่จะสังเกตอาการดูแลรักษาตามอาการ และให้ก้อนเลือดนั้นค่อยๆ ละลายเองตามธรรมชาติ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากความเสื่อมสภาพของหลอดเลือด มีไขมัน หินปูนเกาะหนา หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และเปราะฉีกขาดง่ายกว่าคนปกติทั่วไป โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน สูบบุหรี่จัด ในบางรายที่หลอดเลือดไม่แข็งแรงแต่กำเนิด ทำให้ผนังหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวโป่งออก บางลง และแตกง่าย
แพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างไรว่าจะต้องผ่าตัดสมอง แพทย์จะพิจารณาจากประวัติ อาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรง อาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดลำบาก ซึมลง การตรวจร่างกายและตรวจความดันโลหิต การทำ CT scan หรือ MRI เห็นเลือดในสมอง บางรายต้องฉีดสีดูหลอดเลือดสมองหาตำแหน่งเลือดออก
เป้าหมายของการผ่าตัดสมอง - เพื่อเอาก้อนเลือดที่กดเบียดเนื้อสมองออก - เพื่อลดความดันในสมอง - เพื่อให้เลือดหยุด (หรือป้องกันการแตกของหลอดเลือด) โดยการใส่คลิปหนีบหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือการใส่สายสวนผ่านทางขาหนีบและใส่ขดลวดพิเศษในบริเวณหลอดเลือดโป่งพองในสมอง ก่อนผ่าตัดแพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ให้ทราบขนาดตำแหน่งของเลือดออกและสาเหตุที่แท้จริง เมื่อ จำเป็นต้องผ่าตัดจะแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงเหตุผล และเป้าหมายของการผ่าตัด รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิด ขึ้นหลังผ่าตัด การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมอง และอันตรายที่ผู้ป่วยจะได้รับหากไม่ผ่าตัด
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมองในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะสังเกตอาการหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด ตรวจวัดสัญญาณชีพสม่ำเสมอ เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน ดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้น้ำเกลือ อาหาร ให้ยาแก้ปวด ให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองพยาบาลจะดูแลการรับประทานอาหาร ป้องกันการสำลัก และช่วยพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การบริหารข้อต่อต่างๆ ป้องกันการยึดติด การบริหารกล้ามเนื้อ ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ การเคาะปอด ดูดเสมหะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในปอด เมื่อพ้นภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยมีอาการคงที่ แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ก่อนที่จะนำผู้ป่วยกลับบ้าน พยาบาลจะแนะนำการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองให้ญาติหรือผู้ดูแลเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การให้อาหารทางสายยาง (ถ้ามี) การเตรียมอาหารที่เหมาะกับโรค วิธีการดูดเสมหะหากผู้ป่วยใส่ท่อเจาะคอ การดูแลสายสวนปัสสาวะ (ถ้ามี) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การทำความสะอาดร่างกาย วิธีเช็ดตัวผู้ป่วยและเปลี่ยนเสื้อผ้าบนเตียงในกรณีที่ผู้ป่วยขยับไม่ได้ การพลิกตะแคงตัว แนะนำการใช้ยา เป็นต้น ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะแนะนำการบริหารกล้ามเนื้อ บริหารข้อ ให้แก่ผู้ป่วยและญาติ วิธีการลุกนั่ง ลุกยืน การเดิน เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เทคนิคการกลืนเพื่อป้องกันสำลัก
ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อผู้ป่วยเป็นอัมพาต ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ กลืนลำบาก จึงทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีการทรุดลง หรือเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ปอดอักเสบจากการกลืนลำบากทำให้สำลักเข้าปอด - ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากบางรายปัสสาวะเองไม่ได้ต้องใส่สายสวนคา มีปัสสาวะค้างสะสม เชื้อโรคที่ถุงใส่ปัสสาวะลามไปที่กระเพาะปัสสาวะและไต - แผลกดทับ เกิดจากการนอนทับร่างกายบริเวณนั้นนานๆ หากนานเกิน 2 ชั่วโมงอาจจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลพุพอง และมีเชื้อโรคเข้าไปในแผล - อุบัติเหตุ เนื่องจากแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ดีจึงหกล้มง่าย - ท้องผูก จากการรับประทานอาหารได้น้อยและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย - ความเครียด โรคซึมเศร้าจากความเจ็บป่วยทางกายส่งผลให้เกิดความเครียด
การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองในระยะฟื้นฟู เมื่อกลับบ้านอย่างไร ผู้ป่วยผ่าตัดสมองเมื่อผ่านพ้นภาวะวิกฤติแล้วอาจมีความพิการหลงเหลือ เรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต จึงจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองต่อเนื่อง เพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว โดยจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
- การเตรียมสถานที่อุปกรณ์ให้เหมาะสม ก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับบ้าน เช่น ห้องน้ำมีราวจับ เตียงนอนสามารถปรับหัวเตียงและมีราวจับยึด พื้นทางเดินไม่ลื่น ไม่มีของวางเกะกะ ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง มีอุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นต้น - การเตรียมหาผู้ดูแล อาจเป็นญาติหรือเจ้าหน้าที่ตามศูนย์บริการ ก่อนนำผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้มากที่สุด จะช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่อาจคอยช่วยเหลือเป็นกรณีไป - การดูแลในเรื่องอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ ควรจัดเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด หวานจัด ให้เหมาะกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย หากมีปัญหากลืนลำบากควรเตรียมอาหารชิ้นเล็กๆ อาหารนิ่มๆ อาหารเหลว เช่น โจ๊ก ผลไม้สุก นม เป็นต้น - การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมอง พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ป้องกันการเกิดแผลกดทับ - ทำความสะอาดร่างกายประจำวัน ช่วยเช็ดตัว หากผู้ป่วยไม่สามารถถูตัวได้ทั่วถึง เช่น บริเวณแผ่นหลัง ดูแลความสะอาดเมื่อผู้ป่วยขับถ่าย ดูแลความสะอาดของช่องปากและฟัน ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร - ทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อและข้อให้ผู้ป่วย และกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำเองกรณีที่ขยับแขนขาได้บ้าง เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและป้องกันข้อติด - ใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม หากผู้ป่วยฟังไม่เข้าใจ ควรพยายามพูดช้าๆ ชัดๆ มีน้ำเสียงที่ปกติไม่ตะโกน หากผู้ป่วยพูดไม่ชัด ควรตั้งใจฟังอย่างใจเย็น หรือหาวิธีสื่อสารอื่นๆ ช่วย เช่น ชี้รูปภาพ ให้เขียนหากเขียนได้ - ดูแลการรับประทานยา ด้วยการเตรียมยาและกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง - การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดสมองด้านจิตใจ ครอบครัวจะต้องเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย ไม่แสดงความรู้สึกโกรธ เคร่งเครียดต่อหน้าผู้ป่วย พยายามปรับอารมณ์ของตนเอง ยอมรับสภาพที่ผู้ป่วยเป็น ให้กำลังใจผู้ป่วย จะช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ - พบแพทย์ตามนัด เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อน และติดตามการรักษาโรคประจำตัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หายใจเหนื่อยหอบ ปัสสาวะขุ่น รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น หรือซึมลง ควรพาไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง...ก่อนสายเกินไป เราสามารถห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อไม่ให้เกิดความพิการและจากไปก่อนวัยอันควร ด้วยการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนจากปลา หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน ควบคุมน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ รู้จักผ่อนคลายความเครียด นอกจากนี้ควรวางแผนให้มีการตรวจสุขภาพทุกปี โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการหรือโรค การตรวจความดันโลหิต ตรวจดูระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด หากพบว่าค่าความผิดปกติจะได้วางแผนรักษา รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่วันนี้...ก่อนที่จะสายเกินไป |