ตั้งสติ...พร้อมรับมือ กับ..."โรคลมชักในเด็ก"
เมื่อลูกน้อยเป็นลมชักลมชักในเด็ก เกิดขึ้นเช่นเดียวกับ โรคลมชัก (Epilepsy) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองคนเราอย่างฉับพลัน ทำให้บางเวลาสมองทำงานผิดปกติไปชั่วขณะ ส่งผลให้มีอาการชัก (Seizure) อาการชักเกิดซ้ำๆ ไม่เว้นแม้แต่ในเด็กเล็กๆ ซึ่งหากปรากฏอาการชัดบ่อยๆ จะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าลูกเป็นโรคลมชักหรือไม่ จะได้รักษาตั้งแต่เล็กๆ 1 ใน 3 ของเด็กที่มีอาการชักพบขณะมีไข้สูง เกิดขึ้นมากในเด็กช่วงอายุ 3 เดือน ถึง 5 ปี และมีแนวโน้มชักซ้ำได้มากขึ้น โดยพบว่าเด็กที่ชักนานกว่า 15 นาที จะมีภาวะชักซ้ำอีกมากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ลมชักในเด็กยังส่งผลถึงความผิดปกติด้านพัฒนาการ และมีแนวโน้มพบได้มากในครอบครัวที่มีประวัติป่วยด้วยโรคลมชัก เด็กที่เป็นโรคลมชัก มีโอกาสหายหรือไม่เป็นเรื่องที่ตั้งคำถามกนมานานเกี่ยวกับการรักษาลมชักในเด็ก บางรายมีอาการชักในครั้งแรกแพทย์ก็ติดตามดูอาการโดยไม่ต้องรักษาใดๆ ก็ไม่มีอาการชักอีกเลย ขณะที่เด็กบางคนต้องได้รับยารักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายขาด จากการรับประทานยากันชักประมาณ 2 ? 5 ปี แพทย์จะพิจารณาให้หยุดยาได้ แต่บางรายต้องใช้ยาควบคุมอาการชักไปตลอดชีวิต และมีเป็นส่วนน้อยที่ไม่ตอบสนองต่อยา และมีอาการชักรุนแรง ต้องบรรเทาอาการด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมอง หรือการควบคุมด้วยอาหารสูตรพิเศษ (Ketocenic Diet) สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก- สมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจมาจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรืออุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์
- สมองกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ
- การติดเชื้อในสมอง
- เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นๆ
- โรคทางพันธุกรรม
- โรคทางสมองในอดีต
- การได้รับพิษตะกั่ว
ปัจจัยกระตุ้นให้เด็กมีอาการชัก- มีไข้
- ระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ
- การอดนอน
- ความเครียด
- ทำกิจกรรมที่หนักเกินไป ออกกำลังกายหักโหม
- แสงไฟกระพริบ วูบวาบ เสียงดัง
- การรับประทานยากันชักไม่สม่ำเสมอ
ลักษณะของการชักในเด็กที่ต้องสังเกตุชนิดของการชักขึ้นอยู่กับความผิดปกติของไฟฟ้าในสมองส่วนใด มักแสดงลักษณะที่แตกต่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นสังเกตอาการชักในเด็ก โดยหากมีความผิดปกติเฉพาะส่วนจะทำให้มีอาการชักเฉพาะที่ (Partial Seizures) เป็นอาการชัดตามหน้าที่ของสมองส่วนที่ควบคุมตำแหน่งของอวัยวะบริเวณนั้น เช่น ผิดปกติในสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ก็จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้า แขนขาด้านใดด้านหนึ่ง หรือผิดปกติในสมองส่วนที่รับความรู้สึก จะมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกกลัว ตกใจโดยไร้สาเหตุ เหม่อลอยไม่รู้ตัว เป็นต้น ถ้าหากไฟฟ้าสมองผิดปกติกระจายอยู่ทั่วไปในสมอง ทำให้หมดสติ ล้มลงเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว อาจมีกัดลิ้น ปัสสาวะราด หยุดหายใจชั่วครู่ เรียกการชักแบบนี้ว่า ชักแบบทั่วไป (Generalized Seizures) ซึ่งบางรายก่อนชักอาจมีอาการเตือน (Aura) เช่น การได้กลิ่นแปลกๆ เห็นภาพแปลกๆก่อนชักไม่กี่วัน อาการชักในเด็ก พบได้ในหลายลักษณะ- บางรายมีอาการเตือนก่อนชัก เช่น กลัว ปวดท้อง จากนั้นจะไม่รู้ตัว
- บางรายทำพฤติกรรมแปลกๆ ซ้ำๆ เช่น เคี้ยวปาก ขยับมือไปมา อย่างไม่รู้ตัว แล้วมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว
- บางรายขาดความสนใจชั่วครู่ เหม่อลอย เช่น ของเล่นหล่นมือ จ้องภาพค้าง หยุดเล่น หยุดพูด ทันทีทันใด ถามไม่ตอบ หรือกระพริบตาถี่ๆ มีอาการไม่ถึงนาที แล้วกลับมาเล่นได้ปกติ
- บางรายมีอาการชัก กระตุกซ้ำๆของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ เช่น แขน ขา หน้า
- บางราย ตัวอ่อนลมลงหมดสติทันที
ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องสังเกตความผิดปกติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการชักใช้ระยะเวลาไม่นาน อาจทำให้ไม่ทันได้สังเกตเห็น แต่ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติ ก็ควรรู้จักการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องปลอดภัย แล้วพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการอาการชัก- อันตรายที่เกิดจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธีของผู้เห็นเหตุการณ์รอบข้าง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ กระดูกหัก กล้ามเนื้อฉีก ฟันหัก
- อันตรายจากอุบัติเหตุขณะชัก เช่น ศีรษะกระแทกพื้น ตกน้ำ ตกจากที่สูงขณะกำลังปีนป่าย
- ผลกระทบต่อพัฒนาการหากเด็กชักบ่อย สติปัญญาช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- หากชักนานเกิน 30 นาที อาจมีการหยุดหายใจ จะทำให้สมองขาดออกซิเจน มีโอกาสเสียชีวิต
- ชักขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้สำลัก และมีโอกาสเสียชีวิต
ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพราะการปล่อยให้ชักซ้ำ จะส่งผลกระทบต่อสมอง และการชักอาจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การวินิจฉัยและรักษาโรคลมชักในเด็ก การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักในเด็ก- การซักประวัติว่าเคยชักมาก่อนหรือไม่ ประวัติการรักษาโรคลมชัก การรับประทานยากันชักสม่ำเสมอหรือไม่ สำหรับเด็กที่ชักครั้งแรกหรือไม่เคยมารักษาโรคลมชักมาก่อน แพทย์จะสอบถามประวัติเจ็บป่วย ประวัติการตั้งครรภ์ของมารดา ประวัติการคลอด และพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งประวัติเจ็บป่วยของครอบครัว สอบถามลักษณะของการชัก
- การตรวจร่างกายทั่วไป เช่น วัดอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อดูภาวะไข้และการติดเชื้อ ฟังเสียงหัวใจเต้น ฟังเสียปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram , EEG) เพื่อหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง โรคลมชักบางรายอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาการตรวจด้วยวิธีอื่นประกอบ
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Brain) เพื่อดูความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง
- การเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อในสมอง
แนวทางการรักษาโรคลมชักในเด็ก- รักษาด้วยยา
- การผ่าตัด เพื่อรักษาพยาธิสภาพในสมอง เช่น ผ่าตัดเนื้องอกในสมอง เป็นต้น การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาทเวกัส (Vagal Nerve Stimulation)
- การรักษาด้วยสูตรอาหารที่สร้างสารคีโตน (Ketogenic Diet)
- การปฐมพยาบาล เมื่อเด็กมีอาการชัก
การรักษาด้วยยา แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยากันชัก ก็ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าเป็นโรคลมชัก เด็กชักบางรายไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ติดตามดูอาการเป็นระยะและสามารถหายได้เอง การรักษาด้วยยากันชัก เนื่องจากยามีผลข้างเคียงต่อการทำงานของตับและไต บางรายมีอาการแพ้ เช่น มีผื่น แพทย์จะต้องนัดตรวจเป็นระยะ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละคน และตรวจการทำงานของตับไต บางรายรับประทานยาประมาณ 2 ปี ไม่มีอาการชักต่อเนื่องกัน แพทย์จะพิจารณาหยุดยาด้วยการค่อยๆลดปริมาณลง พ่อแม่ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง แต่บางรายอาจต้องรับประทานยากันชักไปตลอดชีวิต ยากันชักมีหลายชนิดหลายขนาด แพทย์จะพิจารณาอย่างเหมาะสมกับชนิดของการชัก อายุ และน้ำหนักของเด็ก ผู้ปกครองไม่ควรปรับขนาดยาเอง การฝังเครื่องกระตุ้น (Vagal Nerve Stimulation)เป็นวิธีการรักษาที่ใช้สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและมีอาการชักที่รุนแรงบ่อยๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น เมื่อชักจะวูบล้มหมดสติ เสี่ยงต่ออันตรายเมื่อชักแต่ละครั้งและส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก เป้าหมายของการในเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน ไปที่เส้นประสาทเวกัส เพื่อยับยั้งการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ช่วยลดความรุนแรงของอาการชัก ลดความถี่และระยะเวลาของการชัก โดยการฝังเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า (Pulse Generator) ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้ายโดยมีสายนำสื่อไฟฟ้าสอดผ่านใต้ผิวหนัง ปลายสายมีขั้วนำสัญญาณไฟสัมผัสอยู่ที่เส้นประสาทเวกัสที่คอด้านซ้าย พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ดื้อยากันชักจะมีอาการชักน้อยลง การรักษาโรคลมชักด้วยอาหารที่สร้างคีโตน (Ketogenic Diet)เป็นวิธีการรักษาโรคลมชักด้วยการควบคุมอาหารตามสูตรที่แพทย์หรือนักโภชนาการกำหนด ใช้รักษากรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา รับประทานยากันชักหลายชนิด แต่ก็ยังมีอาการชักบ่อยและรุนแรง ซึ่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก การรักษาด้วยอาหารสูตรพิเศษนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ร่างกายสร้างสารคีโตน ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของสื่อนำกระแสประสาทในสมอง ช่วยระงับอาการชัก โดยแพทย์จะคำนวณสูตรอาหารตามน้ำหนักของผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนผสมจะมีอาหารไขมันปริมาณสูง คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ จำกัดน้ำดื่ม ผลข้างเคียงของการรักษาแบบนี้ (Ketogenic Diet) ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ นิ่วในไต ท้องผูก ขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน ระดับไขมันในเลือดสูง กระดูกบาง ฉะนั้นจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อไม่ให้เด็กมีภาวะทุพโภชนการ โดยการเสริมวิตามิน เกลือแร่ แคลเซียม และติดตามระดับคีโตนในปัสสาวะหรือในเลือด คำแนะนำในการดูแลเด็กที่เป็นโรคลมชัก- คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและไม่ก่อให้เกิดอันตรายขณะเด็กมีอาการชัก รวมทั้งการแจ้งคุณครูประจำชั้นว่าเด็กเป็นโรคลมชัก พร้อมทั้งแนะนำการปฐมพยาบาลให้คุณครูหรือญาติที่ใกล้ชิดเด็กรับทราบ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการชัก เช่น ดูแลให้รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ให้พักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หักโหมและอดนอน
- เมื่อเจ็บป่วยเป็นไข้ควรรักษาและดูแลเช็ดตัวลดไข้ทันที
- เมื่อป่วยด้วยโรคอื่น ควรแจ้งแพทย์ว่ารับประทานยากันชักอยู่ประจำ เพราะยาบางชนิดทำให้ประสิทธิภาพของยากันชักลดลง
- ไม่ควรหยุดยากันชักเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ให้เด็กรับประทานยากันชักตามเวลา
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย หากเด็กมีอาการชัก เช่น การปีนที่สูง การให้เด็กว่ายน้ำคนเดียว
- ต้องหมั่นสังเกตอาการชัก เพราะว่ามีอาการได้หลายรูปแบบ เพื่อให้การดูแลที่ปลอดภัย
- ถ้าหากรักษาด้วยการผ่าตัด ให้ดูแลแผลบริเวณนั้น ห้ามให้เด็กแกะเกา หากมีเลือดซึม ผิวหนังบวมแดงต้องไปพบแพทย์
- หากรักษาด้วยอาหารสูตรพิเศษ (Ketogenic Diet) ต้องพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาในเด็ก และไม่ควรปรับสูตรอาหารเอง
|