โรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่าโรคอัมพฤกษ์อัมพาต คือโรคที่มีการตีบตันหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเนื้อสมองส่วนนั้นน้อยลงหรือไม่ได้เลย เนื้อสมองส่วนนั้นจึงขาดเลือด ออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยง ทำให้ทำงานไม่ได้ และถ้าเป็นมากหรือนานเนื้อสมองส่วนนั้นก็จะตายไปในที่สุด ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น ที่พบบ่อยคือแขนขาอ่อนแรงที่เรียกว่าเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต นพ. จิระพัฒน์ อุกะโชค หัวหน้าแพทย์ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองที่พบทุกวันนี้ มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตันลงเพราะผนังหลอดเลือดด้านในหนาตัวขึ้นทำให้รูภายในหลอดเลือดตีบเล็กลง จนเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง สาเหตุที่ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านในหนาตัวขึ้นที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานทำให้ผนังหลอดเลือดด้านในเสื่อมและหนาตัวขึ้น สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ อายุที่มากขึ้นไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การติดเชื้อการอักเสบของหลอดเลือด อุบัติเหตุที่หลอดเลือด ฯลฯ
2. โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากมีอะไรบางอย่างไปอุดรูหลอดเลือดสมอง ขัดขวางการไหลของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง สิ่งที่ไปอุดหลอดเลือดสมองที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ก้อนลิ่มเลือดจากหัวใจ และก้อนเกล็ดเลือดจากผนังหลอดเลือดที่คอ
แม้ว่าอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันแต่การใส่ใจดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้คือ 6 สัญญาณอันตราย ที่มักจะเกิดขึ้นก่อนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
1. ไม่มีแรงหรือชาอย่างเฉียบพลันที่ใบหน้า แขนหรือขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย มือหยิบของแล้วร่วงตก อาการมักเกิดขึ้นชั่วขณะและหายเองได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง 2. ตามัวหรือมองไม่เห็นอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะถ้าเป็นกับตาข้างเดียว 3. อยู่ ๆ ลิ้นแข็งหรือชาทำให้พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก แต่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว 4. วิงเวียนศีรษะบ่อย บางทีเป็นลมล้มลงแต่สามารถรู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็ว 5. นึกอะไรช้าลง สับสน ขาดสมาธี สมรรถภาพการทำงานลดลงอย่างไร้เหตุผล 6. อยู่ ๆ ปวดศีรษะรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
อาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดหรือรวดเร็วมากภายในเวลาไม่กี่นาที ใครมีอาการเข้าข่ายในจำนวนนี้อย่างนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลาย ๆ อย่างประกอบกันในคราวเดียว ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือให้ผู้ที่ใกล้ชิดพาส่งโรงพยาบาลทันที
การวินิจฉัยโรค. โดยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองด้วย CT scan หรือ MRI เพื่อดูตำแหน่งและขนาดของเนื้อสมองส่วนที่เสียไป ในบางรายอาจต้องทำการเอกซเรย์พิเศษเพิ่มเติมเพื่อดูสภาพหลอดเลือดสมองโดยการตรวจ CTA หรือ MRA ด้วย นอกจากนี้แพทย์จะทำการหาสาเหตุว่าโรคเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรด้วยการเจาะเลือดไปตรวจหาระดับน้ำตาล ไขมัน ดูลักษณะของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ในเลือด และสาเหตุอื่นๆ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอกซเรย์ปอดด้วย
แนวทางการรักษา เนื่องจากเนื้อสมองเป็นเนื้อเยื่อซึ่งหากไม่มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง เซลล์สมองจะทนได้เพียงประมาณ 5 นาทีเท่านั้นก็จะตายไป ถ้ามีเลือดและอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงบ้างแต่ไม่พอเพียงเซลล์สมองก็อาจทนได้ประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วก็จะตาย ถ้าเนื้อสมองตายแล้วในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีรักษาใดที่จะทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้
การรักษาผู้ป่วยสามารถแบ่งออกเป็นกรณีตามระยะเวลาได้ดังนี้ กรณีผู้ป่วยมาหาแพทย์เร็วและสามารถทำการวินิจฉัยที่แน่นอนคือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI รวมทั้งการตรวจเลือดที่สำคัญได้เสร็จภายในเวลา 3 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอยู่เพื่อให้รูในหลอดเลือดสมองกว้างขึ้น เลือดจะได้ไหลไปเลี้ยงเนื้อสมองได้มากขึ้น อาจช่วยให้เนื้อสมองส่วนนั้นไม่ตายหรือเกิดหย่อมเนื้อสมองตายน้อยลง แต่เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคืออาจทำให้เกิดเลือดตกในเนื้อสมองได้ ก่อนที่จะให้แพทย์จึงต้องพิจารณาดูว่าผู้ป่วยมีข้อห้ามหรือข้อพึงระวังของการให้ยานี้อยู่หรือไม่ การให้ยานี้จึงไม่อาจให้ได้ทุกราย ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
กรณีผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าทำให้ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันภายใน 3 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ การให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะเนื้อสมองตายไปแล้ว ทั้งอาจมีผลเสียเกิดขึ้นเพราะอาจเกิดเลือดออกแทรกซ้อนในเนื้อสมองได้ถ้าให้ยานี้ การรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงแพทย์ช้าจึงมุ่งไปที่ป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบตันหรืออุดตันเพิ่มขึ้นอีกโดยการให้ยาต้านเกล็ดเลือดและหรือยาต้านการเกิดลิ่มเลือดแทน
การป้องกันโรค. โรคนี้ป้องกันได้โดยตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้และรักษาเสียแต่เนิ่นๆ โรคที่เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ดังนั้นผู้ที่เริ่มมีอายุคือตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็คร่างกายประจำปีเพื่อดูว่ามีโรคที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันอุดตันอยู่หรือไม่ ถ้าพบว่ามี การรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันอุดตันได้
นอกจากนี้การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็มีส่วนทำให้หลอดเลือดสมองแข็งตัวจนเกินการอุดตันได้คือการสูบบุหรี่ การกินอาหารที่มีไขมันมากเป็นประจำ การมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ การไม่ออกกำลังกาย ภาวะเครียดเป็นประจำ ดังนั้นการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดสมองแข็งตัวจนเกิดการตีบตันได้คือการไม่สูบบุหรี่ การเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันมาก การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนหย่อนใจให้เพียงพอไม่ให้เกิดความเครียดเรื้อรัง โรงพยาบาลพญาไท 3 มีความพร้อมในการให้บริการ Stroke fast Track สำหรับคนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และมาพบแพทย์ในเวลา 3 ชม. ซึ่งเรามีกระบวนการดูแลคนไข้ที่รวดเร็ว ทั้งด้านรถพยาบาล และทีมแพทย์ พร้อมตลอด 24 ชม.
|