การรักษาความดันเลือดสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเอง การลดความดันเลือด โดยไม่ใช้ยา
ความดันเลือดคืออะไร ความดันเลือดหรือ blood pressure (BP) คือแรงดันที่กระแสเลือดกระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งมีอยู่สองค่าคือ ความดันขณะหัวใจบีบตัวหรือความดันซีสโตลี (systolic BP) กับ ความดันขณะหัวใจคลายตัวหรือความดันไดแอสโตลี (diastolic BP) โดยเขียนเป็นสองค่าต่อกันคั่นด้วยเครื่องหมาย / เช่น 110/70 mmHg หมายความว่ามีความดันซีสโตลี 110 มม.ปรอท และมีความดันไดอาสโตลี 70 มม.ปรอท ในคนที่อายุน้อย ซึ่งหลอดเลือดมีความหยุ่นตัวได้มาก การมีความดันไดอาสโตลีสูงจะมีนัยสำคัญมากกว่าความดันซีสโตลีเพราะในภาวะที่หลอดเลือดหยุ่นตัวดีมาก ความดันซีสโตลีอาจยังไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าความดันเลือดไดแอสโตลีอาจจะสูงขึ้นแล้ว แตกต่างจากในคนอายุมาก ซึ่งหลอดเลือดมักแข็งตัวไปมากแล้ว ความดันซีสโตลีจะมีนัยสำคัญมากกว่าความดันไดแอสโตลี เพราะในคนอายุมาก ความดันไดแอสโตลีมักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่ายเหมือนความดันซีสโตลี ดังนั้นการประเมินความดันเลือดในผู้สูงอายุ จึงอาศัยความดันซีสโตลีเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปคือแม้ว่าความดันเลือดตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติเพียงตัวเดียว ก็ถือว่าผิดปกติ
ความแม่นยำของการวัดความดันเลือด เครื่องวัดความดันชนิดที่เชื่อถือได้มากที่สุดคือเครื่องที่ใช้น้ำหนักของลำปรอทเป็นตัววัดความดัน หมายถึงเครื่องแบบโบราณที่ใช้มือบีบฟืด ฟืด นั่นเอง เครื่องวัดความดันแบบอัตโนมัติที่บอกค่าเป็นตัวเลขบนจอมักให้ค่าที่ผิดง่าย ต้องสอบเทียบเครื่องมือเป็นระยะๆ ว่าเครื่องตั้งไว้ถูกต้องจริง ในงานวิจัยทางการแพทย์จึงไม่ยอมรับข้อมูลความดันเลือดที่ได้จากการวัดด้วยเครื่องอัตโนมัติ
การวัดความดันในคลินิกหรือโรงพยาบาล ต้องวัดเมื่อผู้ป่วยไม่เหนื่อย ไม่ตื่นเต้น และไม่หนาวสั่นจากเครื่องปรับอากาศ ค่าที่เชื่อถือได้ต้องได้จากการวัดสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 5 นาที และวัดยืนยันที่แขนอีกข้างหนึ่งเสมอ ขณะที่วัดผู้ป่วยควรอยู่ในท่านั่งวางแขนที่จะวัดบนโต๊ะ ตำแหน่งแขนอยู่สูงประมาณประมาณระดับหัวใจของผู้ป่วย
ในกรณีที่การวัดความดันเลือดที่คลินิกหรือรพ.ได้ผลสูงกว่าค่าจริงเสมอ แบบที่เรียกว่าความดันสูงจากเสื้อกาวน์ (white coat hypertension) แพทย์อาจแนะนำให้วัดความดันแบบมอนิเตอร์ติดตัวทั้งวัน ซึ่งการวัดแบบนี้ปกติความดันตอนนอนหลับควรต่ำกว่าความดันขณะตื่น 10-20% ถ้าความดันขณะหลับเท่ากับขณะตื่น เป็นตัวบ่งบอกว่าน่าจะมีความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่าปกติ ผู้ป่วยอาจวัดความดันเลือดที่บ้านด้วยตนเองก็ได้ ซึ่งมีข้อดีที่ทำให้ผู้ป่วยสนใจประเด็นการสนองตอบของความดันเลือดต่อยา ทำให้ผู้ป่วยพลอยสนใจรับประทานยาสม่ำเสมอไปด้วย
ความดันเลือดเท่าใดจึงถือว่าสูง รายงานฉบับที่ 7 ของคณะกรรมการร่วมความดันเลือดสูงอเมริกัน ( JNC 7) ได้แบ่งระดับของภาวะความดันเลือดสูงดังนี้ <120/80 mmHg ถือว่าความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์พอดี (optimum) 121/81 - 139/89 ถือว่าใกล้เป็นโรคความดันเลือดสูง (pre hypertension) 140/90 ? 159/99 เป็นความดันเลือดสูงขั้นที่ 1 (stage I hypertension) >160/100 เป็นความดันเลือดสูงขั้นที่ 2 (stage II hypertension) เป้าหมายการลดความดันเลือด การกำหนดเป้าหมายการรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของผู้ป่วย ดังนี้ กรณีผู้ป่วยทั่วไป เป้าหมายการรักษาความดันเลือดสูงคือ ต้องให้ได้ต่ำกว่า 140/90 กรณีคนเป็นโรคไตและหรือเบาหวาน เป้าหมายการรักษาความดันเลือดสูงคือ ต้องให้ได้ต่ำกว่า 130/80 การลดความดันเลือด โดยไม่ใช้ยา งานวิจัยจำนวนมากสรุปได้ว่าการลดความดันเลือดโดยไม่ใช้ยา สามารถทำได้ด้วยวิธีปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต คณะกรรมการร่วมความดันเลือดสูงอเมริกัน (JNC) ได้สรุปผลงานวิจัยการลดความดันเลือดด้วยวิธีต่างๆโดยไม่ใช้ยา ดังนี้ - คนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ดัชนีมวลกายปกติ หากลดน้ำหนักลงได้ พบว่าทุก 10 กก.ของนน.ที่ลดลงไป จะช่วยลดความดันเลือดได้ 5-20 มม. - คนที่เปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหารที่เคยทำมาแต่เดิม หันไปรับประทานผักและผลไม้ให้มาก รับประทานนมพร่องมันเนยแทนนมธรรมดา ลดอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัวลง และลดการรับประทานไขมันโดยรวมลง จะลดความดันเลือดได้ 8-14% - คนที่ลดอาหารเค็มลง จนจำกัดเกลือให้เหลือไม่เกินวันละ 6 กรัม จะลดความดันเลือดได้ 2-8 มม. - คนที่หันไปออกกำลังกายสม่ำเสมอเช่นเดินเร็วๆให้ได้วันละอย่างน้อย 30 นาทีเกือบทุกวัน จะลดความดันลงได้ 4-9 มม. - ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่ หากจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือวันละไม่เกิน 1 ดริ้งค์ จะลดความดันลงได้ 2-4 มม. การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมีองค์ประกอบ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ (1) การเปลี่ยนจากชีวิตแบบไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ไปสู่การเป็นคนคล่องแคล่ว ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน (2) การเปลี่ยนวิธีรับประทานอาหารและการเลือกอาหารที่รับประทาน จากการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวจากสัตว์เช่นเนื้อ หมู ไก่ ไปรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชแทน และเพิ่มปริมาณอาหารที่เป็นผักผลไม้ และธัญพืชทั้งเมล็ด (whole grain) ให้มากขึ้น (3) การปรับลักษณะการทำงาน การพักผ่อน การนอนหลับ ให้มีความเครียดน้อยลง และให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอ (4) การลด ละ เลิก แอลกอฮอล์และบุหรี่ |