ฉีดสีหลอดเลือดสมอง มองชัดทุกตีบตัน
การตรวจวินิจฉัยโรคทางสมอง
การตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองและโรคหลอดเลือดสมอง จะต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจโดยอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีพิเศษต่างๆ เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรค เพื่อความรวดเร็ว ชัดเจน แม่นยำเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา ตรงโรค ตรงจุด ทันเวลา ซึ่งมักจะมีการตรวจดังนี้
- 1. การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiogram)
- 2. การตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound)
- 3. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- 4. การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiogram)
การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiogram) เป็นการใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดแดง เพื่อฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดแล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ดูพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดสมอง ว่าหลอดเลือดสมองมีการแตก อุดตัน โป่งพองหรือไม่ มากน้อยเพียงใดช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจน และวางแผนการรักษาได้ถูกต้องตรงประเด็นว่าต้องรักษาอย่างไร จะผ่าตัด หรือการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อปิดรอยโรค
ข้อบ่งชี้ของการฉีดสีหลอดเลือดสมอง แพทย์จะพิจารณาทำในรายที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น มีอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน มีปัญหาการพูด หรือฟังไม่เข้าใจอย่างเฉียบพลัน สับสนอย่างเฉียบพลัน ตามองเห็นผิดปกติข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง หรือมองเห็นภาพซ้อนปวดศีรษะรุนแรง
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
ก่อนทำการตรวจต้องมีการเตรียมตัว แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดของการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน การเตรียมตัวโดยทั่วไปมีดังนี้
- 1. งดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- 2. อาจมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการแข็งตัวของเลือด หรือดูค่าการทำงานของไต
- 3. หากมีประวัติแพ้สารทึบรังสี แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ยา ต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลล่วงหน้า
- 4. ต้องแจ้งแพทย์ หากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ
- 5. หากตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
ขั้นตอนของการฉีดสีหลอดเลือดสมอง
แพทย์จะทำความสะอาดและฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่จะสอดสายสวน ซึ่งมักจะเป็นบริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือข้อพับแขน จากนั้นแพทย์จะเจาะและทำการสอดสายสวนเล็กๆ เข้าไปจนถึงหลอดเลือดแดงคาโรติด เมื่อสอดสายเข้าไปในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีผ่านสายเข้าไปยังหลอดเลือดสมอง โดยภาพจะปรากฏบนจอเอกซเรย์ ในระหว่างการตรวจจะมีพยาบาลเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงและตรวจวัดสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เมื่อตรวจแล้วเสร็จให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับสารทึบรังสีออกจากร่างกายทางปัสสาวะโดยเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อ เลือดออก แพ้สารทึบรังสี ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อย เนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง และมีการเตรียมตัวอย่างดีก่อนตรวจ
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยอัลตร้าซาวด์ มีหลักการทำงานอย่างไร
เป็นการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง ด้วยการสร้างภาพจากการสะท้อนของคลื่นเสียงความถี่สูง เมื่อคลื่นความถี่กระทบกับเนื้อเยื่อที่มีคุณสมบัติต่างกันจะเกิดการสะท้อนคลื่นกลับไปแสดงผลทางจอภาพ เทคโนโลยีปัจจุบันจะเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนจริง (real time) ซึ่งสามารถแสดงภาพโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในรวมถึงการไหลของเลือดในหลอดเลือด โดยอาศัยเทคนิคของ Doppler ultrasound โดยใช้การเปลี่ยนแปลงของคลื่นเสียงเมื่อเลือดเคลื่อนที่ผ่านเครื่องจะสามารถวัดทิศทางและความเร็วของเม็ดเลือดที่ไหลภายในหลอดเลือด ถ้าหลอดเลือดตีบรุนแรงการไหลของเลือดจะยิ่งเร็วขึ้น แพทย์สามารถวิเคราะห์ได้จากรูปร่างของกราฟ การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยอัลตร้าซาวด์มี 2 วิธีคือ การตรวจหลอดเลือดแดงที่คอ (Carotid Doppler Ultrasound) และการตรวจหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Ultrasound )
การตรวจหลอดเลือดแดงที่คอ ด้วยอัลตร้าซาวด์ (Carotid Doppler Ultrasound)
เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง เพื่อประเมินภาวะตีบตัน บอกตำแหน่งความรุนแรงของการตีบตัน ตรวจหาคราบไขมันและความหนาของผนังหลอดเลือดสมอง บอกอัตราเร็วการไหลของเลือด สำหรับตรวจในผู้ที่มีอาการและสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ วูบ ชาครึ่งซีก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่จัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีการตรวจ จะวางเครื่องมือ transducer ที่เป็นตัวส่งและรับคลื่นเสียงบริเวณหลอดเลือดตรงคอของผู้ป่วย ซึ่งจะได้ข้อมูลในทันที มีความปลอดภัยและไม่เจ็บ ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจ
การตรวจหลอดเลือดในสมอง ด้วยอัลตร้าซาวด์ (Transcranial Ultrasound)
เป็นการตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงสมองภายในกะโหลกศีรษะหรือเรียกว่า Transcranial Doppler Ultrasound (TCD) การตรวจชนิดนี้ใช้คลื่นความถี่สูง ซึ่งสามารถผ่านกะโหลกศีรษะส่วนที่บางได้ จะใช้เครื่องมือ (transducer) ที่เป็นตัวส่งและรับคลื่นเสียงความถี่ที่น้อยกว่าการตรวจหลอดเลือดภายนอกกะโหลกศีรษะ (หลอดเลือดที่คอ) โดยใช้transducer วางที่บริเวณตำแหน่งขมับด้านหน้าใกล้หูหรือท้ายทอย แต่นิยมวางที่บริเวณขมับเพราะกระดูกกะโหลกศีรษะบริเวณนี้จะบางกว่าตำแหน่งอื่น เพื่อประเมินตำแหน่งและความรุนแรงของการตีบตันในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และสามารถคัดกรองในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ และมีอายุมาก
การตรวจหลอดเลือดโดยอัลตร้าซาวด์ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ไม่อันตราย ไม่เจ็บ วิธีการตรวจง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ใช้เวลาไม่นาน รู้ผลเร็ว ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับ CT Scan หรือ MRI ผลตรวจมีความแม่นยำค่อนข้างสูง หากทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำซ้ำได้หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง ยังศึกษาไม่พบอันตรายจากการตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด
สแกนสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography : CT Scan)
สแกนสมองเป็นการถ่ายภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(Computerized Tomography : CT Scan) จะได้ภาพที่ละเอียดเป็นภาพ 3 มิติ ชัดเจนกว่าเอกซเรย์ธรรมดา ซึ่งจะแสดงเป็นภาพ 2 มิติ สามารถใช้ตรวจความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง เลือดที่ออกในสมอง รวมไปถึงเนื้องอก แสดงขนาดและขอบเขตของรอยโรค ซึ่งเอกซเรย์ธรรมดาไม่สามารถทำได้ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค เช่น โรคหลอดเลือดแตกในสมอง ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เนื้องอกในสมอง ช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และช่วยในการวางแผนการรักษาของแพทย์เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลพญาไทมีเครื่องมือที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเทคนิค การสร้างภาพที่ละเอียด มีความเร็วในการสแกนและการแปลผลที่สูงขึ้น วิธีการตรวจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ขณะได้รับการฉีดสารทึบรังสีอาจทำให้รู้สึกร้อนตามตัวได้
ถ้าหากสงสัยและต้องการจะตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในสมองจากอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะพร้อมกับตาพร่ามัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ชักเกร็ง แขนขาชาและอ่อนแรง เดินเซ มีอุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ เป็นต้น ควรมาพบแพทย์อายุรกรรมทางโรคสมองและระบบประสาท เพื่อตรวจร่างกาย ซักประวัติ ตรวจอาการ พิจารณาถึงข้อบ่งชี้และความจำเป็นว่าจะต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือไม่
การเตรียมตัวก่อนสแกนสมอง(CT SCAN)
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักต้องมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำร่วมด้วยเพื่อช่วยให้เห็นภาพต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เรียกง่ายๆ ว่า การฉีดสี ซึ่งมักมีสารประกอบของธาตุไอโอดีน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจที่มีขั้นตอนซับซ้อนกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา ดังนั้นจึงต้องมีการนัดหมายตรวจ และต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปมีการเตรียมตัวดังนี้
- 1. งดอาหาร น้ำ และยาทุกชนิดก่อนตรวจ อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการฉีดสารทึบรังสี แต่สำหรับกรณีอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้เลย โดยอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- 2. แพทย์จะต้องตรวจร่างกาย ประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนตรวจ อาจต้องเจาะเลือดดูการทำงานของไต
- 3. ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบถึงประวัติ โรคประจำตัว โรคไต โรคเบาหวาน โรคอื่นๆ การตั้งครรภ์ การแพ้ยา การแพ้อาหารทะเล เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- 4. ต้องถอดเครื่องประดับหรือวัตถุที่เป็นโลหะออกก่อนเข้าห้องตรวจ
- 5. รายละเอียดของการเตรียมตัวในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันบ้าง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและอธิบายรายละเอียดก่อนตรวจ หากมีข้อสงสัยผู้ป่วยหรือญาติควรสอบถามเพิ่มเติมให้เข้าใจก่อนลงนามยินยอมเข้ารับการตรวจ
ขั้นตอน สแกนสมอง(CT Scan)
เมื่อผ่านขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนตรวจเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยต้องนอนบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่รังสีจะรัดสายบริเวณศีรษะและคาง ผู้ป่วยห้ามขยับศีรษะ และจะได้รับการฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือดดำ โดยมีพยาบาลคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดการตรวจ หากมีปัญหาผู้ป่วยสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ทันทีผ่านทางไมโครโฟน ใช้เวลาตรวจเพียง 10-15 นาที เนื่องจากเครื่องทันสมัยสามารถตรวจด้วยความเร็วและได้ภาพที่ละเอียดมากขึ้น
ภายหลังการตรวจ ผู้ป่วยสามารถรับประทานน้ำและอาหารได้ตามปกติ สารทึบรังสีจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆหากไม่มีข้อห้ามของแพทย์ในการจำกัดน้ำดื่ม สารทึบรังสีอาจทำให้มีอาการแพ้ได้แต่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามควรสังเกตอาการตนเอง หากพบความผิดผิดปกติ เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก จุกแน่นหน้าอก ควรรีบแจ้งแพทย์ แพทย์อาจต้องให้ยาแก้แพ้
การสแกนสมองด้วยเครื่อง MRI
เครื่อง MRI จะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย ในปัจจุบันมีความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง สามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด สมองและหลอดเลือด ระบบกระดูก ไขสันหลัง เป็นต้น
การตรวจ MRI จะดีกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography, CT) มีประโยชน์ในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน สามารถตรวจหาการอักเสบติดเชื้อในสมอง ตรวจหาเนื้องอกในสมอง สามารถตรวจหลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดสมองด้วย MRI ไม่มีอันตรายจากรังสีที่เกิดจากการใช้เอกซเรย์ สามารถตรวจได้แม้กระทั่งผู้ป่วยโรคไตวาย โดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตรวจในผู้ป่วยที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการตรวจใช้เวลาที่นานกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การวินิจฉัยโรค...ด้วยมาตรฐานการแพทย์
ถึงแม้การตรวจโรคทางสมอง การตรวจหลอดเลือดสมองจะมีหลากหลายวิธี แต่แพทย์จะเลือกตรวจโดยคำนึงถึงข้อบ่งชี้ ความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมทันเวลา ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน หายหรือทุเลาจากโรคโดยเร็ว โรงพยาบาลพญาไท มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ท่านจึงไว้วางใจได้ เมื่อเข้ารับการตรวจรักษา หากต้องมีการวินิจฉัยด้วยการฉีดสีท่านจะได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์โดยตรง หากท่านมีข้อสงสัย สามารถฝากคำถามหรือโทร.ปรึกษาได้ทันทีที่ 1772 หมายเลขที่พร้อมดูแลสุขภาพของคุณตลอด 24 ชม.
?ฉีดสีปลอดภัย ทันสมัยด้วยเครื่องมือ คือทีมแพทย์พญาไทผู้เชี่ยวชาญ?