ไขมันในหลอดเลือดสูงอันตราย ปัจจัยเสี่ยงโรคร้าย ทำลายชีวิต!!!
ท่ามกลางโรคร้ายแรงมากมายที่เราต้องเผชิญกันอยู่ในทุกวันนี้ ทำให้ทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการกิน นอน หรือ การทำงาน ฯลฯ ก็ล้วนแต่ส่งผลต่อสุขภาพของเราทั้งนั้น และหนึ่งในโรคที่ถือเป็นวิกฤตที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ก็คือ โรคหัวใจ ซึ่งรู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันคนเป็นโรคหัวใจมากขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันก็มีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ เกิดจาก "ภาวะไขมันในเลือดสูง"
ไขมันในหลอดเลือดสูงหมายถึงอะไร?
นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง "ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง" ว่า หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในหลอดเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือค่ามาตรฐาน อาจเป็นระดับของ "คอเลสเตอรอล" หรือ "ไตรกลีเซอไรด์" ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคต่างๆ และเพื่อให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น นพ.อดิศักดิ์ จึงได้ให้ความรู้ถึงเรื่องราวของ "คอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์" เพิ่มเติม ดังนี้
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คืออะไร?
คอเลสเตอรรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายประการ คอเลสเตอรรอลเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ ถ้าหากร่างกายขาดคอเลสเตอรอล จะทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ แห้ง ฉีกขาดง่าย ทำให้เซลล์ตายได้ ร่างกายใช้คอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนเพศ และสร้างน้ำดีซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารประเภทไขมัน และเมื่อแสงแดดกระตุ้นคอเลสเตอรอลที่อยู่ในผิวหนัง จะสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินดีได้
คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง มี 2 ชนิด คือ
- เอชดีแอล (HDL , High Density Lipoprotein) ที่มีส่วนประกอบของฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) ทำหน้าที่นำไขมันจากเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งนำคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือดไปกำจัดที่ตับ จึงมักเรียกว่า ไขมันดี ทำหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือดป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว
- แอลดีแอล (LDL , Low Density Lipoprotein) มีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลัก ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ และสามารถเกาะที่ผนังหลอดเลือด เมื่อมีมากเกินพอดี จะทำให้หลอดเลือดแดงสูญเสียหน้าที่ และเกิดภาวะตีบ แตก อุดตัน อันเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ตามมา
ไตรกลีเซอไรต์ (Triglyceride) คืออะไร?
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นโดยตับ ทำหน้าที่สังเคราะห์มาจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน และโปรตีนที่เหลือใช้จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และเก็บสะสมไว้ใต้ผิวหนังเป็นพลังงานสำรอง หากร่างกายต้องการพลังงานจะดึงเอาไขมันที่สะสมมาใช้งาน
เมื่อมีการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดมากผิดปกติ เป็นเวลานาน จะทำให้ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL - C) ลดต่ำลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ
เพราะเหตุใด ไขมันในเลือดจึงสูง?
นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้กล่าวถึง ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงว่า มีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่ใช้พลังงานมาก และอาหารประเภทไขมัน คอเลสเตอรอลมากเกินไป เช่น รับประทานเนื้อติดมัน ขนมหวาน เป็นประจำ
- การไม่ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายได้รับ
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ ทำให้ร่างกายลดการนำไขมันที่สะสมมาใช้
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
- เกิดจากโรค เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคอ้วน เป็นต้น
ไขมันในหลอดเลือดสูงอันตราย เสี่ยงโรคร้ายทำลายชีวิต
ไขมันในหลอดเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ บางรายเสียชีวิต
- โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ โรคไต ตามมา
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มีโอกาสเสียชีวิต
มีอาการอย่างไร เมื่อไขมันในหลอดเลือดสูง?
สำหรับอาการแสดงของภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงนั้น นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า ไม่มีอาการเตือนก่อนล่วงหน้าที่แน่ชัด แต่จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อก่อให้เกิดโรคขึ้นแล้ว เช่น หลอดเลือดสมองตีบ ถ้าตีบมากจะทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง จึงทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น
- เวียนศีรษะ
- มึนงง
- ตาพร่ามัว
- แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเราต้องการทราบว่าร่างกายของเรา มีภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงหรือไม่ ก็สามารถทราบได้จากการเจาะเลือดตรวจ ซึ่งก็ควรเข้ามารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำกับแพทย์ทุกปี เพื่อจะได้ป้องกันความเสี่ยง หรือ รักษาได้ทันตั้งแต่ในช่วงที่มีความเสี่ยงแรกเริ่มเกิดขึ้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าไขมันในหลอดเลือดสูง?
การที่เราจะทราบได้ว่าร่างกายของเราอยู่ในสภาะที่ไขมันในหลอดเลือดสูงหรือไม่นั้น สามารถพิสูจน์ได้จาก "การเจาะเลือดตรวจวัดระดับไขมัน" ได้แก่ คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) , ไตรกลีเซอไรด์ (TG , Triglyceride) , เอชดีแอล (HDL) และนำค่าไขมันที่ได้ทั้งสามชนิดคำนวณหาค่าแอลดีแอล (LDL) ซึ่งก่อนที่จะทำการเจาะเลือด แพทย์จะแนะนำให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอนที่สุด
ค่ามาตรฐานไขมันในหลอดเลือดของคนปกติ
- คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- LDL Cholesterol ไขมันร้าย ไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- HDL Cholesterol ไขมันดี ควรสูงกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้ชาย และ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิง
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ค่าปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ไขมันในหลอดเลือดสูง รักษาอย่างไร?
นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึงแนวทางในการรักษาภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง ว่า สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ
- การรักษาด้วยยาลดไขมันในหลอดเลือด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา ถ้าระดับไขมันในหลอดเลือดสูงไม่มาก แพทย์มักแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและการออกกำลังกาย ซึ่งถ้าหากยังทำไม่สำเร็จ แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาเพื่อช่วยลดไขมันในหลอดเลือดพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทาน การออกกำลังกาย แต่ถ้าหากไขมันในหลอดเลือดสูงมาก และมีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็ต้องรีบรักษาด้วยยาลดไขมัน
- การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดระดับไขมันในหลอดเลือด สามารถทำได้โดยมีแนวทาง ดังนี้
- ลดการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ อาหารจำพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารหวานจัด ขนมหวานทุกชนิด ผลไม้หวานจัด เพราะ เมื่อร่างกายใช้ไม่หมด จะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ เก็บสะสมไว้มากเกินไป
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องใน หนังหมู หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง
- หลีกเลี่ยงไขมันพืชชนิดอิ่มตัว เช่น ไขมันมะพร้าว กะทิ ไขมันปาล์ม
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด เปลี่ยนวิธีปรุง เป็นการ ปิ้ง ย่าง ต้ม นึ่ง เนื้อสัตว์ควรลอกหนังออก
- ควรเน้นการรับประทานอาหารประเภทที่มีกากใย และแร่ธาตุสูงๆ เช่น ผักผลไม้ต่างๆ
- ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา นมพร่องมันเนย เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
- ควรเลือกรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก เป็นต้น
- ควรรับประทานไขมันโอเมก้า ? 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและยับยั้งการสร้างไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งมีมากในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทร้าท์ ปลาซาร์ดีน ปลาข่อน ปลาจะละเม็ด เป็นต้น ส่วนในพืชผัก ได้แก่ ดอกกะหล่ำ เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง วอลนัท บรอคโคลี เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากให้พลังงานสูง ทำให้ร่างกายลดการสลายไขมันเป็นพลังงาน เพื่อนำมาใช้ ทำให้ไขมันสะสมในร่างกาย และอีกประการหนึ่งคือ แอลกอฮอล์ เป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ที่ตับพยายามกำจัดออกไป ทำให้รบกวนการทำงานของตับ ตับจึงทำหน้าที่กำจัดไขมันส่วนเกินได้ไม่เต็มที่ ไขมันส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์
- งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่เพิ่มการจับตัวของไขมันในหลอดเลือด
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานส่วนเกิน และช่วยลดน้ำหนักตัว
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- การรับประทานยาลดไขมัน ตามคำสั่งแพทย์และพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจระดับไขมันในหลอดเลือดเป็นระยะ
- ถ้าหากมีโรคประจำตัวต่างๆ ควรติดตามการรักษาสม่ำเสมอ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย เป็นต้น
ในแนวทางของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไขมันในหลอดเลือดสูงนั้น นพ. อดิศักดิ์ ชัยชนะพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 แนะนำว่า สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีไขมันในหลอดเลือดสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การดำเนินชีวิต เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจระดับไขมันในหลอดเลือด หากสูงเกินมาตรฐานควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาตามลำดับ