หมดสติ!!! ต้องรีบรักษา ทุกนาทีมีค่า หมายถึง ชีวิต!!
ทุกนาทีที่ผ่านไป ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน จริงอยู่ที่เราอาจเตรียมการป้องกันได้ แต่เรื่องไม่คาดคิดก็มักเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งโดยเฉพาะกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วยแล้ว อาการแสดงของโรคต่างๆ หลายครั้ง ก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดเดา ซึ่งเมื่อเกิดอาการขึ้นมาแล้ว ก็เท่ากับว่า ทุกวินาทีที่หมดไป หมายถึง ความปลอดภัยของชีวิต ที่เราจะต้องรีบช่วยให้ได้ทัน และ ถูกต้อง ทั้งนี้ หนึ่งในภาวะฉุกเฉินที่พบได้บ่อยในทางการแพทย์ ก็คือ "ภาวะหมดสติ"
ภาวะหมดสติ หมายถึงอะไร?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง "ภาวะหมดสติ" (Unconsciousness) ว่า หมายถึง ภาวะที่ร่างกายผู้ป่วยไม่รับรู้ต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะมีความรุนแรงหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม โดยเป็นภาวะที่ไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นเองได้ ทั้งนี้ ภาวะหมดสติ มักมีสาเหตุที่ร้ายแรง และเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
เพราะสาเหตุใด จึงทำให้คนไข้หมดสติ?
การหมดสติ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ
- การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทำให้สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือ การที่สมองถูกทำลาย หรือ ถูกกระทบกระเทือนจนเกิดการกดการทำงานของสมอง
- โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทำให้สมองขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือมีเลือดออกในสมองอย่างรุนแรง
- โรคหัวใจ ที่ทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในระดับรุนแรง เป็นต้น
หมดสติ จะมีอาการอย่างไร?
ผู้ที่หมดสติจะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ ต่อการกระตุ้นแม้แต่การปลุกเขย่าก็ไม่ตื่น พูดไมได้ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว แม้จะกระตุ้นด้วยความรู้สึกเจ็บ ซึ่งการหมดสติอาจจะยังหายใจได้ หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจหอบ หายใจขัด หรือหยุดหายใจ ซึ่งผู้ใกล้ชิด ผู้พบเห็นเหตุการณ์จะต้องรีบประเมินอาการและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมกันนั้นต้องรีบโทรศัพท์ตามรถพยาบาลฉุกเฉิน มิฉะนั้นแล้วผู้ป่วยที่หมดสติ จะไม่มีโอกาสรอดชีวิต
ช่วยชีวิตผู้ป่วยหมดสติ มีวิธีทำได้อย่างไร?
ในปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ให้ประชาชนสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้หมดสติได้ เรียกว่า "การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน" (Basic Life Support หรือ Cardiopulmonary Resuscitation, CPR) ซึ่งสามารถติดต่อเพื่อรับการฝึกอบรมได้ ที่โรงพยาบาลต่างๆโดยทั่วไป ซึ่งหากการช่วยเหลือทันเวลาไม่เกิน 4 นาที นับจากผู้ป่วยหยุดหายใจและทำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวรได้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตและมีโอกาสกลับมาใช่ชีวิตได้อย่างปกติ
ทั้งนี้ นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้แนะนำถึงขั้นตอนของการทำ CPR สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ เอาไว้โดยสังเขป ดังนี้
- ประเมินการหมดสติ โดยการตะโกนเรียกดังๆ และเขย่าที่ไหล่ แต่ควรระวังหากมีการบาดเจ็บที่กระดูกคอ ถ้าพบว่าหมดสติ ให้ตะโกนเรียกคนอื่นมาช่วย
- ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นและให้ช่วยตามรถพยาบาล เช่น เรียก 1669 ระบบบริการ การแพทย์ฉุกเฉิน หรือ 1772 เรียกรถพยาบาลของเครือโรงพยาบาลพญาไท หรือเรียกโรงพยาบาลที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ระหว่างจัดท่าควรระวัง ประคองกระดูกคอของผู้ป่วยอย่างดี
- เปิดทางเดินหายใจ โดยใช้มือข้างหนึ่งกดหน้าผากและมืออีกข้างหนึ่งเชยคางให้ยกขึ้น ท่านี้จะทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง
- ตรวจการหายใจประมาณ 10 วินาที โดยก้มหน้าลงไปให้แก้มอยู่ใกล้กับจมูกและปากของผู้ป่วย หน้าของผู้ช่วยเหลือจะต้องตะแคงหันไปทางหน้าอกของผู้ป่วย ให้ฟังเสียงลมหายใจของผู้ป่วยและสายตามองที่หน้าอกว่ามีการกระเพื่อมขึ้นลงหรือไม่
- ถ้ายังหายใจ ให้จัดท่าผู้ป่วยนอนในท่าพักฟื้นในลักษณะนอนตะแคงกึ่งคว่ำ งอขาผู้ป่วยยันพื้นไว้หนึ่งข้างคล้ายๆกับนอนเอาขาก่ายหมอนข้าง ใช้มือของผู้ป่วยในด้านตรงข้ามวางหนุนคางไว้ เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และระบายเสมหะ หรือน้ำลายได้ง่าย การเปลี่ยนให้ผู้ป่วยนอนท่านี้จะต้องแน่ใจว่า ไม่มีการบาดเจ็บที่กระดูกคอ
- ถ้าหากผู้ป่วยที่หมดสติ หยุดหายใจให้ผายปอด 2 ครั้งในทันที
- การผายปอด ช่วยการหายใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบจมูก ขณะเดียวกันต้องเปิดการเดินหายใจด้วยการกดหน้าผาก เชยคาง ประกบปาก เข้ากับปากของผู้ป่วย เป่าลมเข้าไป ให้หน้าอกของผู้ป่วยยกขึ้นนาน 1 ? 2 วินาที แล้วถอนปากออกสูดลมหายใจ แล้วประกบปากเป่าลมเข้าไปอีกครั้ง ทำการผายปอด 2 ครั้ง และต่อด้วยการกดหน้าอกนวดหัวใจทันที
- การนวดหัวใจ ให้วางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก มืออีกข้างหนึ่งซ้อนทับมือแรก กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1.5 ? 2 นิ้ว กดหน้าอกจำนวน 30 ครั้งด้วยอัตราเร็ว 100 ครั้ง / นาที โดยทำสลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการไอ หรือขยับตัวหรือหายใจได้เอง หรือเมื่อมีทีมช่วยเหลือมาถึงจึงจะหยุดได้
- ถ้าหากช่วยเหลือจนผู้ป่วยหายใจได้เอง หรือรู้ตัวแล้วควรจัดให้ผู้ป่วยนอนในท่าพักฟื้น และเฝ้าสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
สำหรับขั้นตอนการผายปอด หากไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยมีโรคติดต่อหรือไม่ หรือไม่ใช่ญาติสนิท ผู้ช่วยเหลือสามารถทำการนวดหัวใจด้วยการกดหน้าอกเพียงอย่างเดียวด้วยความเร็ว 100 ครั้ง/นาที จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เองหรือทีมช่วยเหลือมาถึง
วินิจฉัยอย่างไร เมื่อคนไข้หมดสติถูกนำส่งถึงโรงพยาบาล?
สำหรับผู้ป่วยหมดสติ เมื่อถูกนำตัวส่งถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้น ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว หายใจเองไมได้ หัวใจหยุดเต้น แพทย์จะทำการช่วยฟื้นคืนชีพในขั้นสูงต่อไปด้วยการใช้ยาและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การกดนวดหัวใจ การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า การให้น้ำเกลือ และยาต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หรือ ได้รับการช่วยเหลือจนรู้สึกตัวแล้ว แพทย์จึงจะทำการวินิจต่อไป โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- ตรวจวินิจฉัย ด้วยการซักถามประวัติการเจ็บป่วยจากผู้ใกล้ชิดหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ เช่น ประวัติของโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา หรือประวัติการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
- ตรวจร่างกายหาสาเหตุ เพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคของหลอดเลือดสมอง และ โรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1อธิบายเพิ่มเติมว่า หากสงสัยว่าผู้ป่วยหมดสติมาจากโรคของหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ แพทย์จะตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเลือดต่างๆ เป็นต้น เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้โดยเร็ว อันจะนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
มีแนวทางการรักษาอย่างไร ในผู้ป่วยหมดสติ?
แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- อาการของผู้ป่วย
- ระดับความรู้สึกตัว
- สัญญาณชีพ
- สาเหตุที่ทำให้หมดสติ เช่น เลือดออกในสมองมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ หากพบสาเหตุที่แน่ชัด และมีอาการรุนแรง แพทย์อาจตัดสินใจพิจารณาผ่าตัดเร่งด่วนได้ เป็นต้น
เมื่อกลับถึงบ้าน จะมีวิธีการดูแลผู้ป่วยหมดสติอย่างไร?
ผู้ป่วยหมดสติ หลังได้รับการรักษา บางรายอาจเสียชีวิตได้ โดยขึ้นอยู่กับ สาเหตุของการเกิดภาวะหมดสติ และ มีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานก่อนถึงโรงพยาบาลหรือไม่ ช่วยทันเวลาหรือไม่ แต่หากรักษาโรคได้สงบลงผู้ป่วยบางรายสามารถหายได้และฟื้นฟูร่างกายกลับมามีชีวิตได้เป็นปกติ แต่มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ สมองได้รับความเสียหายรุนแรง อาจสูญเสียการรับรู้ การเข้าใจ การตอบสองต่อสิ่งเร้า และการเคลื่อนไหวไป โดยอาจทำได้เพียงแค่ หลับตา ลืมตา หัวเราะ ร้องไห้ แต่ไม่มีความหมายตรงกับสิ่งที่แสดงออก จึงเรียกสภาพนี้ว่า "ผัก, เจ้าชายนิทรา, เจ้าหญิงนิทรา" ซึ่งเมื่อแพทย์รักษาสาเหตุของโรคเรียบร้อยแล้ว แพทย์และทีมสุขภาพจะเตรียมความพร้อมให้ญาติในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ดังนี้
- ดูแลการหายใจ โดยมากผู้ป่วยจะได้รับการเจาะคอใส่ท่อ (Tracheotomy tube) เพื่อให้สามารถกำจัดเสมหะได้ง่าย ทีมพยาบาลจะสอนการทำความสะอาด การถอด การใส่ท่อ
- ญาติผู้ดูแลต้องเรียนรู้ในการเตรียมอาหารและการให้อาหารทางสายยางและวิธีการให้ยาทางสายยาง
- ญาติผู้ดูแลต้องเรียนรู้การดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น การพลิกตะแคงตัว เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ การดูดเสมหะ การเคาะปอดเพื่อป้องกันภาวะปอดติดเชื้อ ปอดแฟบ การดูแลสายสวนปัสสาวะ
นอกจากญาติหรือผู้ดูแลต้องเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้วนพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ยังเน้นย้ำเพิ่มเติม อีกในส่วนของการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย โดยมีแนวทาง ดังนี้
- จัดห้องให้อยู่ชั้นล่าง เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย
- เตียงนอนที่เหมาะสมควรมีเหล็กกั้นเตียงป้องกันการตกเตียง
- เครื่องดูดเสมหะญาติต้องวางแผนว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยควรเป็นใคร ควรเปลี่ยนเวรกันได้ เพื่อให้ผู้ดูแลได้พักคลายเครียดหรือกรณีมีธุระ
ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพกายและใจของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลเองด้วย
ป้องกันตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากภาวะหมดสติ?
นพ. สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการป้องกันตนเองจากภาวะหมดสติว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เพราะจะทำให้ห่างไกลจากโรคร้ายและอุบัติเหตุ ที่เป็นต้นเหตุของการหมดสติ
ฉะนั้นเมื่อเราต้องการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข และเพื่อไม่ต้องกลายเป็นภาระให้ลูกหลานต้องมาดูแลใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว เราจึงควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ยึดหลักสุขบัญญัติ แห่งชาติ 10 ประการ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด โดย เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคไม่ให้รุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถมีสุขภาพที่ดีได้แล้ว