การรักษาโรคหลอดเลือดสมองต้องมั่นใจวิธีการ
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขของไทยพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลกและประชากรไทย โดยมีแนวโน้มของอัตราการเสียชีวิตและอัตราป่วยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีการป้องกันและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองจึงสำคัญ
โรคหลอดเลือดสมอง...โรคทรมาน
เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างที่เรียกว่าทรมานได้เลยทีเดียว เนื่องมาจากอาการของโรคจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงหรืออาจขยับไม่ได้เลยไปครึ่งซีก บางรายหนักกว่านั้นคือเป็นทั้ง 2 ซีก จึงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กิจวัตรประจำวันการทำความสะอาดร่างกายก็ต้องอาศัยคนใกล้ชิดทำให้ แม้กระทั่งการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระก็ไม่สามารถควบคุมได้เรียกว่า ตายไปครึ่งซีก การรับประทานอาหารอาจกลืนลำบาก กลืนไม่ได้ ผู้ดูแลต้องเตรียมอาหารเหลวอาหารนิ่มๆ ต้องป้อนหรืออาจให้ทางสายยาง การสื่อสารก็มีปัญหา พูดไม่ได้พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความเครียดทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ หรือซึมเศร้า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง คนทั่วไปเรียกโรคนี้ว่า โรคอัมพาต ทำให้เกิดความเครียดทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว
โรคอัมพาตเกิดจากสาเหตุใด
โรคอัมพาตมักพบบ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่เป็นมานานและรักษาควบคุมโรคไม่ดีเพราะโรคดังกล่าว ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ มีลักษณะแข็งหนา ไม่ยืดหยุ่น เปราะ โปร่งบาง ฉีกขาดง่าย โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดเสื่อมสภาพตามธรรมชาติจึงทำให้เกิดโรคอัมพาตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพจนเป็นสาเหตุของโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ได้แก่ นิสัยการรับประทาน ชอบอาหารไขมันสูง เค็มจัด รับประทานข้าวแป้งน้ำตาลมากเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ เหล่านี้ส่งผลให้น้ำหนักตัวเกิน สะสมไขมันไว้ในร่างกาย ในหลอดเลือด อีกทั้งขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่จัด อดนอน มีความเครียด ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ
โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภท
หลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดจากไขมันสะสมหนาที่ผนังหลอดเลือดด้านในจนทำให้รูของหลอดเลือดเล็กลง เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงสมองน้อยลง การอุดตันอาจเกิดจากผนังหลอดเลือดที่มีไขมันสะสมปริแตกจนมีลิ่มเลือดมาเกาะอุดตัน หรือลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจลอยมาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง กรณีนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากผนังหลอดเลือดที่เปราะหรือโป่งพอง บางลง พบบ่อยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองต้องรู้สัญญาณร้ายที่ควรไปโรงพยาบาลด่วน!
เมื่อหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก จะทำให้สมองขาดเลือด เซลล์สมองถูกทำลายจนสูญเสียหน้าที่ไป ส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ได้แก่ ปากเบี้ยวอมน้ำไม่อยู่ทำให้น้ำไหลออกมุมปาก แขนขาอ่อนแรงหรือขยับไม่ได้ซีกใดซีกหนึ่ง มีอาการชาหรือไม่รับความรู้สึกหยิกไม่เจ็บ พูดไม่ได้ พูดลำบาก อาจฟังไม่เข้าใจ บางรายอาจมีการมองเห็นผิดปกติ ตาพร่ามัวหรือมองไม่เห็นข้างเดียวแบบฉับพลัน ปวดศีรษะ บางรายซึมลง
เมื่อสังเกตว่าตนเองหรือญาติมีอาการเหล่านี้แบบฉับพลันอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะรอช้าอาจเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตถาวร
การตรวจวินิจฉัยการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- แพทย์จะต้องซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ สอบถามเวลาที่เริ่มมีอาการผิดปกติ ประวัติของโรคประจำตัวและการรักษา ยาที่รับประทานประจำ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจร่างกาย เจาะเลือดเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดโรค
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) หรือการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อแยกโรคให้ชัดเจนว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด ตีบ ตัน หรือแตก หรือเป็นโรคสมองจากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอก
- การอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดที่คอ (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อดูการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มักจะตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการของอัมพาตชั่วคราว หรือตรวจคัดกรองในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือโป่งพอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล อาการของผู้ป่วย โรคร่วมที่ผู้ป่วยเป็น สภาพร่างกายเดิม การรักษามีดังนี้
- 1. มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยวหรือชาครึ่งซีก
- 2. พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษา พูดอ้อแอ้ไม่ชัด
- 3. ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น หรือมองเห็นครึ่งซีกของลานสายตา หรือเห็นภาพซ้อน
- 4. เวียนศีรษะ บ้านหมุนโคลงเคลง เดินเซคล้ายคนเมาเหล้า
- 5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับอาเจียนหรือหมดสติ
ในบางรายอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายเองเป็นปกติ เช่น อาจมีอาการอ่อนแรงอยู่ประมาณ 30 นาทีแล้วดีขึ้นเป็นปกติ อย่าได้ทำเป็นนิ่งนอนใจ ไม่ไปพบแพทย์ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดในสมองหรือไม่ ดังนั้นหลังจากมีอาการแสดงเตือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาให้ยาป้องกันการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงที เพราะอาการแสดงเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดทางสมอง อาจจะมีการอุดตัน หรือมาจากอาการของเส้นเลือดในสมองตีบตัน เมื่อเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นกับตัวเราหรือบุคคลรอบข้างให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
การตรวจวินิจฉัยการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองที่มีหลอดเลือดผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยยา แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3-4.5 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ เมื่อวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าหลอดเลือดสมองตีบตันและไม่มีข้อห้ามของการใช้ยา เป้าหมายเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้อีกครั้ง ช่วยให้เซลล์สมองฟื้นตัว นอกจากนี้แพทย์ยังให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ด้วยการให้ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอะไร พร้อมทั้ง
คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย งดบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ และควรพักผ่อนให้พอเพียง
นวัตกรรมทางเลือกของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ด้วยความพร้อมของเครื่องมือ ประกอบกับความก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์ทำให้มีแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของหลอดเลือดและเชี่ยวชาญการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พร้อมกับมีห้องผ่าตัดสำหรับทำหัตถการเอื้ออำนวยด้วยเทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นด้วยการรักษาโดย สอดสายสวนเล็กๆ ผ่านทางหลอดเลือดด้วยการกรีดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือต้นแขน ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดใหญ่ มีเพียงแผลเล็กๆ บริเวณที่ถูกกรีด ไม่เจ็บในขณะทำการรักษาเพราะฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาพักฟื้นสั้น การรักษาดังกล่าว ได้แก่...
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดแดง (Intra-arterial Thrombolysis)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมาไม่ทันการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำซึ่งต้องให้ยานี้ภายใน 3-4.5 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่เมื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแล้วไม่ได้ผล สามารถเพิ่มทางเลือกการรักษาโรคหลอดเลือดสมองให้ผู้ป่วยด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดแดง ให้ยาไปสัมผัสโดยตรงที่ลิ่มเลือด โดยทำผ่านทางสายสวน แต่การรักษาวิธีนี้ จะได้ผลดีไม่ควรเกิน 6ชั่วโมงนับแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยการลากก้อนเลือด (Clot Retrieval)
หากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้าเกินไป แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดอาการผิดปกติ ทางเลือกของการรักษา คือการใส่ขดลวดพิเศษไปทางสายสวนลากเอาลิ่มเลือดออกจากสมองเพื่อเปิดทางของหลอดเลือดให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยการใช้บอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดแคโรติดและ/หรือใส่ขดลวด(Carotid Angioplasty and Stenting)
ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนจากแพทย์ ได้แก่การอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดที่คอ (Carotid Duplex Ultrasound) หากพบการตีบตันจะทำการตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Angiogram) หรือตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA, Magnetic Resonance Angiogram) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงในรายที่จะวางแผนรักษาต่อด้วยการขยายหลอดเลือด
หากตรวจพบว่าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองแคโรติดตีบมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ร่วมกับมีอาการของอัมพาตชั่วคราว (mini-Stroke) หรืออัมพาตถาวร (Stroke) เช่น ตามองไม่เห็น พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่ตรวจพบว่าหลอดเลือดตีบรุนแรงมีความเสี่ยงต่ออัมพาตสูง แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดที่คอเพื่อนำคราบที่อุดตันออก แต่บางรายสภาพร่างกายไม่เหมาะสมกับการผ่าตัด การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดจะเป็นทางเลือกของการรักษา ลดโอกาสเสี่ยงเนื่องจากไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า
เป็นการใส่บอลลูนผ่านทางสายสวนไปจนถึงตำแหน่งที่ตีบตัน กางบอลลูนให้ขยายออกเบียดคราบไขมันหินปูนให้ชิดไปกับผนังหลอดเลือด ทำให้รูของหลอดเลือดเปิดกว้างขึ้น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น บางรายแพทย์จะใส่ขดลวดเล็กๆ ค้ำยันไว้ด้วยเพื่อป้องกันการตีบซ้ำในบริเวณนั้น หลังทำพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1 วัน
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยการใส่ขดลวดรักษาหลอดเลือดโป่งพอง
ผู้ที่มีหลอดเลือดโป่งพองในสมอง อาจพบจากการทำ CT Scan หรือ MRI หากมีขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงสูงของการแตก แพทย์จะแนะนำให้รักษา ซึ่งอาจจะใช้วิธีผ่าตัดแล้วใช้คลิปหนีบ หรือบางรายอาจรักษาด้วยการใส่ขดลวดผ่านทางสายสวนไปอุดหลอดเลือดที่โป่งพองนั้น เพื่อป้องกันการแตกของหลอดเลือดในบริเวณนั้น หลังการรักษาด้วยการสอดสายสวนใส่ขดลวด ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน ซึ่งจะรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันไปทั้งสภาพร่างกาย และตำแหน่งของรอยโรค
การผ่าตัดสมอง ผู้ป่วยบางรายที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงมาก แพทย์จะทำการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยการผ่าตัดเพื่อลดความดันในสมองเพื่อป้องกันอันตรายของสมองจากความดันที่เพิ่มขึ้น ในรายที่หลอดเลือดสมองแตกมีก้อนเลือดขนาดใหญ่กดเบียดเนื้อสมองที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จะผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเลือดออก บางรายหลอดเลือดสมองโป่งพองปริแตกต้องผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดหรือป้องกันการปริแตกซ้ำ โดยใช้คลิปหนีบ
การทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต จะต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และฟื้นฟูกล้ามเนื้อของแขนขา เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด บางรายต้องฝึกการกลืนอาหารป้องกันการสำลัก บางรายต้องฝึกการพูดการสื่อสาร จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
การป้องกันและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ควรควบคุมอาหารตามที่แพทย์แนะนำ งดอาหารหวาน มัน เค็ม ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ ควบคุมโรคประจำตัว รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด พบแพทย์ตามนัด
ในรายที่ยังไม่เป็นโรคอัมพาต ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน ควรตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือด หากพบว่าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำหรือรักษา ทุกคนควรเริ่มต้นดูแลตนเองเสียแต่วันนี้ ไม่ต้องรอให้อายุมากขึ้นจึงคิดดูแลตนเองเมื่อถึงเวลานั้นอาจสายเกินไป
ต้องรู้ทันโรค รับมือให้ไว...ปลอดภัยจากความพิการ
หากมีอาการผิดปกติควรสังเกตให้เป็น เมื่อพบว่ามีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนื่ง ปากเบี้ยว พูดลำบาก พูดไม่ได้ ควรไปโรงพยาบาลโดยด่วน หรือแจ้งรถพยาบาลที่คุ้นเคยหรือ...โทร.1772 เรียกรถพยาบาลของโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งสามารถรับมือกับภาวะฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างเชี่ยวชาญ เตรียมพร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางโรคสมองตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบ ตรวจรักษาแบบด่วนพิเศษสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่า Stroke Fast Track ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็วการ ให้รักษาที่เหมาะสมทันเวลา เพื่อให้พ้นอันตราย...จากการเสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิต