โรคเบาหวานอันตราย นำภัยสู่หลอดเลือดสมอง
การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีปัจจัยหลายอย่าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง โรคและภาวะเหล่านี้ล้วนส่งผลและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ในที่นี้เราจะชี้ให้เห็นถึงโรคเบาหวานซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานเองยังมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะอื่นๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อปัจจัยทั้งหมดนี้รวมกัน ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับเบาหวานก่อน เบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถทำงานได้ปกติ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป โรคเบาหวานจะมีอาการเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลให้หลอดเลือดเสื่อม ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เบาหวาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ซึ่งสร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลินหรือสร้างได้น้อยมาก อย่างที่เราเรียกได้ว่าเป็นโรคภูมิต้านทานตัวเอง ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว และถ้าเป็นรุนแรงจะมีการคั่งของสารคีโตน (ketones) สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้หมดสติถึงตายได้
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นเบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวกับพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย มีลูกมาก อีกทั้งวัยที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยยังสามารถสร้างอินซูลิน แต่การทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องจากเซลล์ต่างๆ ของร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ เสียการทำงานไป บางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว อาจรักษาโดยการทานยา และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีดเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้เบาหวานยังมีสาเหตุมาจากการใช้ยาด้วย เช่น สเตอรอยด์หรือยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
อาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) ผู้เป็นเบาหวานจะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบได้สูง ทั้งนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเบาหวานทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวได้ง่าย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมองและเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตขึ้น โดยอัตราเสี่ยงของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นได้สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้คือ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด ใบหน้าชาครึ่งซีก พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้ ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ เห็นแสงผิดปกติ วิงเวียน หรือเดินเซไม่สามารถทรงตัวได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานานๆ โดยมิได้รับการรักษา หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตชนิดหลอดเลือดตีบได้สูง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวินิจฉัยหาสาเหตุได้โดยการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด หรือผู้ที่เป็นเบาหวานได้รับยารักษาอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาจเหมือนภาวะของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้ ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็มีวิธีการวินิจฉัยเพื่อให้ถูกจุดกับโรคที่เป็นอยู่ได้
การป้องกันเบาหวาน
- การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- การควบคุมน้ำหนัก เพราะเมื่อร่างกายมีมวลไขมันมากจะกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ดื้อต่ออินซูลิน
- การควบคุมอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ไม่รับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์แต่พอควร การดื่มจัดจะเพิ่มภาวะดื้อต่ออินซูลิน และส่งผลให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบ ซึ่งตับอ่อนเป็นอวัยวะสำคัญในการผลิตอินซูลิน
- ควรตรวจสุขภาพประจำปี เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หรือหากเป็นคนอ้วนมีประวัติในครอบครัวเป็นเบาหวาน อาจเริ่มตรวจสุขภาพแม้อายุยังไม่ถึง 35 ปี
การป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน
1. ควบคุมน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารให้อยู่ที่ 80?130 มก./ดล.
2. ควบคุมความดันเลือดไม่ให้เกิน 130/80 มม.ปรอท
3. ควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน
4. ควบคุมระดับไขมันในเลือด
- คอเลสเตอรอล ต่ำกว่า 200 มก./ดล.
- ไตรกลีเซอไรด์ ต่ำกว่า 150 มก./ดล.
- เอชดีแอล สูงกว่า 40 มก./ดล.
5. งดสูบบุหรี่
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
7. ดูแลรักษาเท้า โดยป้องกันไม่ให้เกิดแผลและหมั่นตรวจเท้าสม่ำเสมอ
8. ตรวจตาอย่างน้อยทุก 2 ปี และตรวจหาปริมาณไข่ขาวในปัสสาวะปีละ 1 ครั้ง แม้ยังไม่มีอาการ
โรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวานก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อการทำงานและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และบางครั้งโรคแทรกซ้อนนั้นอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การมีความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพที่ดี ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการรักษาโรคแทรกซ้อน และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ตาม หากเราสงสัยเกี่ยวกับอาการของโรคเบาหวาน เราควรตรวจคัดกรองกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือโรคหลอดเลือดสมองต่อไปในอนาคต ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีโปรแกรมตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ดังนี้
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจะช่วยให้เราป้องกัน ควบคุม และรักษาได้แต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน ก็จะน้อยลงเมื่อได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่หากท่านพบความผิดปกติของร่างกายแบบทันทีทันใด หรือมีความกังวลใจใส่ใจสุขภาพ อยากใช้ชีวิตให้มีคุณภาพ มีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือโทร.สายด่วน 1772 เพื่อได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่โรคเบาหวานจะนำพาโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทางโรงพยาบาลพญาไท มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคเบาหวาน ที่พร้อมร่วมรักษากับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง ทำให้การรักษาโรคร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงคลายความกังวลของผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนหลายโรค
?ปรึกษาวันนี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย โรคร่วมมีมากมาย โทร. 1772?