เวียนศีรษะ (Vertigo)
การเวียนศีรษะ
เป็นอาการที่ผู้ป่วยเห็นภาพรอบตัวเองหมุนไปในทิศทางเดียวกัน (ผู้ป่วยต้องลืมตา) โดยอาจจะเป็นการหมุนรอบตัวในแนวนอน แนวตั้งหรือตะแคง บางครั้งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่าของรอบตัวเองหมุนเมื่อหลับตา ผู้ป่วยบางรายอาจจะใช้คำว่า ?บ้านหมุน? ?เป็นลม? ?หน้ามืด? ?วิงเวียน? ?มึนศีรษะ? หรือ ?ตาลาย?
ทำไมจึงเกิดการเวียนศีรษะ
หูเป็นอวัยวะสำหรับการฟังและการทรงตัว แบ่งออกเป็น 3 ชั้น
- หูชั้นนอก เป็นรูหูเป็นช่องยาวถึงแก้วหู
- หูชั้นกลาง มีกระดูก 3 ชิ้น สำหรับส่งต่อเสียงเข้าหูชั้นใน นับตั้งแต่ด้านในของแก้วหูจนถึงช่องต่อหูชั้นใน
- หูชั้นใน อยู่ในกระดูกหลังใบหู มี 2 ส่วนที่สำคัญ คือท่อครึ่งวงกลม (semicircular canals) 3 อันที่ตั้งฉากกันหมด ร่วมกับกระเปาะด้านหน้า 2 อัน (utricle และ saccule) และอวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) ทั้งสองส่วนภายในเป็นท่อที่มีน้ำอยู่ภายใน
ท่อครึ่งวงกลมในหูชั้นใน (semicircular canal) เป็นอวัยวะสำหรับการรับรู้การ เคลื่อนไหวของศีรษะและลำตัวในแนวหมุนหรือโค้งไปมา โดยอาศัยการรับรู้จากการที่น้ำไหลผ่านเนินกั้นการไหลของน้ำที่เรียกว่า cupula หลังจากนั้นส่งสัญญาณประสาท ผ่านเส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve)
กระเปาะยูตริเคิล (utricle) และแซคคูล (saccule) มีเซลล์ที่มีขนอยู่ภายในและมีฝุ่นหินปูน (otoconia) ติดอยู่ด้านบนขนของเซลล์อีกที เป็นส่วนทีรับความรู้สึกเคลื่อนไหวของร่างกายในแนวราบและแนวดิ่งอวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) เป็นส่วนที่ต่อจากกระเปาะทั้งสองมีหน้าที่รับเสียง และส่งต่อเสียงผ่านเส้นประสาทเข้าสมอง
ปกติการไหลของน้ำในท่อครึ่งวงกลม มีความเร็วเท่ากันสองข้างเวลาศีรษะเคลื่อนไหว สมองจะรับรู้ปกติและไม่มีอาการเวียนศีรษะ แต่ถ้ามีการหมุนของน้ำภายในเร็วไม่เท่ากันระหว่างข้างขวาและข้างซ้าย หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve) ทำให้สมองรับสัญญาณจากหู 2 ข้างไม่เท่ากันจึงเกิดอาการของการหมุนของสิ่งรอบตัวที่เรียกว่า ?เวียนศีรษะ? หรือ ?Vertigo?
อาการอื่นที่เกิดจากการเวียนศีรษะ
การเวียนศีรษะบ้านหมุน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ตามมาได้ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูก น้ำตาไหล
- หน้าซีด
- ความดันสูงขึ้น
- ปวดมึนศีรษะ
สาเหตุของการเวียนศีรษะ
จะกล่าวเฉพาะการเวียนศีรษะที่ผู้ป่วยเห็นของรอบตัวหมุนเท่านั้น การเวียนศีรษะแบบนี้พบได้บ่อยมาก ประมาน 5% ของประชากร จะเกิดการเวียนศีรษะ ในแต่ละปี และ 10% ของคนเราเคยมีการเวียนศีรษะสักครั้งในชีวิต คนที่อายุเกิน 50 ปีเคยมีอาการนี้ได้ถึง 40%
สาเหตุของการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนที่พบได้บ่อย
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Benign paroxysmal position vertigo) หรือโรคบ้านหมุนเวลาเปลี่ยนท่าทาง หรือ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
- เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเวียนศีรษะ
- เกิดจากการที่ฝุ่นหินปูนขนาดเล็กมากๆ (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ในกระเปาะยูตริเคิล หลุดเข้าในท่อครึ่งวงกลม ทำให้เวียนศีรษะเวลาหันศีรษะไปมาหรือล้มตัวนอน
- เป็นเวลาเปลี่ยนท่าทางมักเป็นเวลาล้มตัวนอนหรือจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง หรือการก้มแล้วเงย
- อาการเป็นอยู่ไม่ถึงนาทีแล้วหาย และเป็นซ้ำเวลาเปลี่ยนท่าทางอีก
- การรักษาโดยการหมุนศีรษะ 4 ทิศทาง ให้ฝุ่นหินปูนหลุดออกจากท่อวงกลมกลับเข้ากระเปาะยูตริเคิล (Canalith repositioning procedure) โดยวิธีของหมอเอปเลย์ (Epley?s maneuver)
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- เกิดได้จากโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกในเนื้อสมอง
- พบในผู้สูงอายุ มักเกิน 50 ปี ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง และหัวใจเต้นพลิ้ว) มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้น
- อาการเวียนศีรษะเป็นอยู่นานเป็นหลายนาที อาจจะนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนท่าทางและไม่เป็นพักๆ
- ถ้าสงสัยต้องถ่ายภาพสมองด้วยเครื่อง CT หรือ MRI ถึงจะวินิจฉัยได้แน่นอน
- การรักษาขึ้นกับสาเหตุว่าเป็นจากสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง
- เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis)
- เกิดจากเส้นประสาทสมองอันที่ 7 ข้างใดข้างหนึ่งอักเสบ สัญญาณประสาทการทรงตัวจากท่อครึ่งวงกลมส่งไปสู่สมองไม่เท่ากัน จึงเกิดอาการเวียนศีรษะ
- การเวียนศีรษะมักเป็นเวลานานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ บางรายอาจมีไข้และต้องไม่มีปัญหาการได้ยินหรือเสียงในหู
- พบในทุกอายุ ส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน
- เชื่อว่าเป็นจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงต่อเส้นประสาท หรือเป็นจากการที่แพ้ภูมิตัวเอง
- การถ่ายภาพสมอง CT หรือ MRI ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอน
- ส่วนใหญ่มักหายเอง โดยอาการค่อย ๆ ดีขึ้น ภายใน 2-3 สัปดาห์
- การใช้ยาสเตียรอยด์ระยะสั้นๆ อาจจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว
- โรคน้ำคั่งในหู หรือ โรคมีเนียร์(Meniere?s disease)
- เกิดจากการที่มีน้ำในหูชั้นในมีปริมาณที่มากเกินไป
- มีอาการที่สำคัญคือ
- มีอาการเวียนศีรษะเป็นพักๆ นานหลายนาทีหรืออาจะเป็นชั่วโมงๆ แต่ไม่ควรเกิน 1 วัน ผู้ป่วยอาจจะมีการเวียนศีรษะทุก 2-3 วันหรือทุกสัปดาห์ บางรายอาจจะห่างเป็นเดือน
- มีเสียงดังในหูข้างใดข้างหนึ่ง (บางรายเป็นทั้ง 2 ข้างได้)
- นานเข้าหูข้างที่มีปัญหาจะได้ยินน้อยลง มักเป็นสียงต่ำและในที่สุดไม่ได้ยินเลย
- สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางรายพบร่วมกับการติดเชื้อในหูส่วนกลาง อุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นหวัดคออักเสบ การใช้ยาแอสไพริน สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มาก พบว่าการรับประทานเค็มมากกระตุ้นให้อาการเป็นมากได้
- การวินิจฉัยจากประวัติ การตรวจการได้ยิน และการถ่ายภาพสมองด้วย CT หรือ MRI เพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ออกไป
- การรักษา โรคนี้รักษาให้หายขาดไม่ได้
- ผู้ป่วยที่อาการไม่มากสามารถใช้ยาระงับการเวียนศีรษะ ยาแก้อาเจียน
- ผู้ป่วยที่เวียนศีรษะมาก อาจจะต้องทำลายเซลล์รับความรู้ทรงตัวให้เสียไป โดยการฉีดยาเข้าหูหรือการผ่าตัด หรือการรักษาโดยการผ่าตัดใส่ท่อช่วยนำน้ำออกจากหูชั้นใน
- การรักษาโดยกายภาพบำบัดเพื่อฝึกสมองให้เคยชินกับสภาพของหูชั้นในที่เสียไป
- โรคไมเกรน (Migraine)
- ไมเกรนโรคที่ทำให้ปวดศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ บางรายมีการเวียนศีรษะร่วมด้วย
- ไมเกรนบางคนมีอาการเวียนศีรษะ เป็น ๆ หาย ๆ อย่างเดียวโดยไม่มีปวดศีรษะก็ได้ ซึ่งมักจะเกิดในคนอายุน้อยๆ ผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย
- การเวียนศีรษะมักเป็นครั้งละ 2-3 นาที รายที่เป็นนานร่วม 30 นาทีหรือเป็นชั่วโมงพบได้น้อยมาก
- การวินิจฉัยได้จากประวัติเพียงอย่างเดียว และการถ่ายภาพสมองด้วย CT หรือ MRI เพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ออกไป
- รักษาด้วยยารักษาไมเกรนระยะเฉียบพลัน และให้ยาป้องกันไมเกรนในรายที่เป็นบ่อย
สาเหตุอื่น ๆ ของการเวียนศีรษะที่พบได้ไม่บ่อย
- โรคหลอดเลือดที่เลี้ยงเส้นประสาทการทรงตัวอุดตัน (Vestibular nerve ischemia)
- โรคผนังระหว่างหูชั้นกลางและชั้นในบางกว่าปกติ (Superior canal dehiscence syndrome)
- โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (Multiple sclerosis)
- โรคสมองน้อยยื่นลงในช่องกระดูกต้นคอ (Arnold-Chiari malformation)
สาเหตุของการโคลงเคลงหรือทรงตัวไม่ได้ (Disequilibrium,imbalance,unsteadiness)
หรือการมึนงง (dizziness)
- โรคเมารถ เมาเรือ (Motion sickness)
- โรคเนื้องอกในกะโหลกศีรษะ เช่น เนื้องอกของปลอกหุ้มประสาทการได้ยิน (acoustic schwannoma), เนื้องอกเยื้อหุ้มสมอง (meningngioma) หรือ เนื้องอกของสมอง (brain tumor)
- โรคปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension-typeheadache)
- โรคปวดศีรษะเรื้อรังเกือบทุกวัน (Chronic daily headache)
- ภาวะโพรงน้ำในสมองโต (Hydrocephalus)
- โรคสมองน้อยเสื่อม (Spinocerebellar degeneration หรือ multiple system atrophy)
- โรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis)
คลินิกเวียนศีรษะ
โรงพยาบาลพญาไท 1 อาคาร3 ชั้น5
โทร.0-2640-1111 ต่อ 2688-90 , 081-900-8411