ผลกระทบจากโรคพาร์กินสัน ต้องช่วยกันดูแลทุกด้าน
เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็ทรุดโทรมลงไปตามธรรมชาติ ทั้งผิวหนังเหี่ยวย่น ดวงตาฝ้าฟาง การเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็มักช้าลง แต่ก็ยังคงดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งต้องประสบกับโรคที่ส่งผลให้ไม่สามารถบังคับร่างกายได้อย่างปกติ นอกจากจะลำบากต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลให้คนรอบข้างต้องลำบากไปด้วย
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคพาร์กินสันกัน โรคนี้สร้างความยากลำบากให้กับผู้ป่วยและคนรอบข้างทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทก้านสมอง ส่งผลต่อปริมาณของสารโดพามีนที่มีการหลั่งน้อยลงจนไปกระทบกับการสั่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง เป็นต้น หากเป็นโรคนี้แล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถดูแลให้อาการทุเลาลงได้มากและสามารถใช้ชีวิตปกติต่อไปได้นาน ก่อนที่จะไปดูวิธีการรักษา เรามารู้จักโรคและอาการของโรคกันก่อน เพื่อจะได้สังเกตตนเองหรือคนใกล้ตัวได้แต่เนิ่นๆ
สาเหตุของโรค |
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทก้านสมอง ซึ่งทำให้มีการหลั่งสารโดพามีนน้อยลงจนไปกระทบกับการสั่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่วนสาเหตุของการเสื่อมของเซลล์นั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง สาเหตุเท่าที่สันนิษฐานได้ มีดังนี้
- ความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดพามีน (เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำที่อยู่บริเวณก้านสมอง โดยทำหน้าที่สำคัญในการสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว) มีจำนวนลดลง โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด
- กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ถึงสามเท่า
- การได้รับสารพิษที่ทำลายสมอง เช่น แมงกานีสในโรงงาน พิษจากสารคาร์บอนมอนนอกไซด์
- อุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะถูกกระทบกระเทือน หรือศีรษะถูกกระแทกบ่อยๆ เช่น อาชีพนักมวย
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด หรือยาลดความดันโลหิตสูงที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดพามีน
- หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดพามีนมีจำนวนน้อยหรือหมดไป
- สมองขาดออกซิเจน ในกรณีที่จมน้ำ ถูกบีบคอ เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น
- การอักเสบของสมอง
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง สาเหตุมาจากธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา
อาการของโรค |
อาการของโรคพาร์กินสันจะเริ่มจากเล็กน้อยและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา เริ่มจากอวัยวะด้านเดียวและลามไปทั้งสองข้าง โดยที่อวัยวะข้างที่เป็นก่อนจะมีอาการหนักกว่า อาการต่างๆ ของโรคที่พบได้ มีดังนี้
- อาการสั่น เป็นอาการเริ่มต้นของโรค กล้ามเนื้อจะสั่นเมื่อร่างกายหยุดนิ่ง เริ่มจากแขน ขา ลำตัว จะสั่นมากเมื่อหยุดนิ่ง และสั่นเบาลงเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว เริ่มจากสั่นเพียงข้างเดียวและลามไปทั้งสองข้าง
- อาการเกร็ง โดยปกติเมื่อเราขยับกล้ามเนื้อ จะมีด้านหนึ่งหดเกร็งและอีกด้านหนึ่งคลายตัว แต่โรคพาร์กินสันกล้ามเนื้อจะแข็ง ตึง และเกร็งอยู่ตลอดเวลาทั้งสองด้านแม้ไม่ได้เคลื่อนไหว โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา ลำตัว ทำให้ผู้ป่วยปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก และเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก อาจมีการสะดุดหกล้ม แกว่งแขนไม่ได้ เป็นต้น
- อาการเคลื่อนไหวช้า ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะทำอะไรช้าลงมาก ไม่กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วเหมือนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เริ่มต้นเคลื่อนไหว งานอะไรที่เคยทำเองได้ก็ต้องใช้เวลานานขึ้น
- สูญเสียการทรงตัว การเดินอาจเริ่มจากซอยเท้าถี่ๆ เป็นก้าวยาวๆ และเร็วจนหยุดไม่ได้และหกล้มในที่สุด ผู้ป่วยจะเดินหน้าและถอยหลังเหมือนคนเมา ต่อมาจะมีอาการหลังงอ ไหล่ห่อ ทำกิจวัตรประจำวันได้ช้าหรือไม่ได้เลย
การรักษา |
การรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การใช้ยา โดยทั่วไปการรักษาจะใช้ยาเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มที่มีฤทธิ์คล้ายสารโดพามีนในสมอง กลุ่มที่เปลี่ยนเป็นสารโดพามีนในสมอง กลุ่มที่ช่วยลดการทำลายสารโดพามีนในสมอง ยาช่วยให้มีการเคลื่อนไหวกลับมาใกล้เคียงปกติ ช่วยให้มีอาการดีขึ้นอย่างมากในช่วงระยะแรกของโรค แต่หากรับประทานยาติดต่อกันนานกว่า 5-10 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาการตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี แม้จะกินยาเพิ่มและบ่อยขึ้นก็ตาม
- การผ่าตัด ขณะนี้ทั่วโลกใช้วิธี Deep Brain Stimulation พบว่าอาการสั่นลดลงถึงร้อยละ 75 การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลดลงร้อยละ 71 การเคลื่อนไหวช้าลงร้อยละ 49 ในช่วงติดตามผลระยะ 5 ปี ผู้ที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งเดิมเคยตอบสนองดีต่อยาแต่เริ่มมีปัญหาเรื่องการออกฤทธิ์ของยา หรือมีปัญหาการเคลื่อนไหวมากผิดปกติขณะที่ยาออกฤทธิ์ หรือมีอาการสั่นรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อยา
- การรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็ง ตลอดจนช่วยในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ
การดูแล |
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ บริหารข้อต่างๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อต่างๆ คงสภาพการทำงานได้ดังเดิม
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติดต่างๆ
- ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการหกล้ม
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป
ผลกระทบจากโรคพาร์กินสัน |
โรคพาร์กินสันส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในหลายๆ ด้าน เห็นได้ชัดที่สุด คือ ด้านการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ส่วนมากผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องมีคนคอยดูแล เนื่องจากกล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีการอ่อนแรงและสั่นเกร็ง โดยเริ่มจากเล็กน้อยและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งข้างเป็นสองข้าง จากเคยทำงานได้เป็นทำได้ช้าลงและทำไม่ได้ในที่สุด หรืออื่นๆ เช่น น้ำลายไหลควบคุมไม่ได้ เขียนหนังสือตัวเล็กลง แกว่งแขนไม่ได้ ยกเท้าลำบาก เท้าติด เดินหกล้มบ่อย ไม่สามารถกลอกตาไปมาได้คล่องแคล่วอย่างปกติ เพราะลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุก แสดงสีหน้าไม่ได้ ใบหน้าของผู้ป่วยจะเฉยเมยไม่มีอารมณ์เหมือนใส่หน้ากาก เวลาพูดมุมปากจะขยับเพียงเล็กน้อย พูดเสียงเบาอยู่ในลำคอ นอนไม่หลับเนื่องจากขากระตุก ฝันเสมือนจริง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่
- อาการท้องผูกเป็นประจำ เนื่องจากผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ลำบาก เคลื่อนไหวน้อย ไม่ค่อยดื่มน้ำ ไม่รับประทานผักหรือผลไม้ ประกอบกับยารักษาโรคพาร์กินสันมักมีผลข้างเคียงที่ทำให้ท้องผูกได้
- อาการปวด อาจปวดแบบกล้ามเนื้อเกร็ง ปวดขา ปวดหลัง หรือปวดในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะเวลานอนจนทำให้นอนไม่หลับ อาจต้องรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งต้องระวังปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงอาการอ่อนเพลีย ซึ่งมักพบได้บ่อยๆ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีงานมาก เครียดหรือกังวล
- อาการท้อแท้และซึมเศร้า เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิม หากขาดการดูแลเอาใจใส่ก็จะยิ่งเกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายในชีวิตและคิดว่าตนเป็นภาระต่อครอบครัว ภาวะซึมเศร้านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ป่วยอาจคิดสั้นได้ ในรายที่มีอาการซึมเศร้ามากจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ทั้งนี้แม้อาการของโรคจะมีหลากหลายและความรุนแรงหลายระดับ แต่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่น เคลื่อนไหวลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในผู้สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้มกระดูกหัก จะเห็นได้ว่าการเป็นโรคพาร์กินสันนั้นส่งผลให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม สื่อสารยากลำบาก และหากเป็นมากจะไม่สามารถเข้าสังคมได้ สร้างความทุกข์ใจให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากตรวจพบเร็วและทำการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการที่ผู้ป่วยดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงแจ่มใส และไปพบแพทย์อยู่เสมอ มีผู้ป่วยหลายรายที่ป่วยแต่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ก็เนื่องจากการดูแลตัวเองให้ดีในเบื้องต้น แม้อาการของโรคจะส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างรุนแรงแต่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขอเพียงผู้ป่วยมีความตั้งใจจริงที่จะเข้ารับการรักษา และพร้อมจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
"เพื่อคุณภาพชีวิตต้องเลือกสรร อย่าให้พาร์กินสันสร้างผลกระทบ รีบพบแพทย์ก่อนลุกลาม"